ผ่านฉลุย สภา โหวตรับหลักการ 4 ฉบับร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.

24 ก.พ. 2565 | 18:55 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2565 | 02:00 น.
2.7 k

ผ่านฉลุย สภา ลงมติรับร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 4 ฉบับ พร้อมเคาะตั้ง 49 กมธ.วิสามัญพิจารณา ประชุมนัดแรก 1 มีนาคมนี้

24 กุมภาพันธ์ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 10 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย

 

1.ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 ฉบับ

2.ร่างที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะ 1 ฉบับ

3.ร่างที่เสนอโดย นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ

4.ร่างที่เสนอโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ คณะ 1 ฉบับ

ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวนอีก 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างที่เสนอโดย ครม. 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน และคณะ 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) และคณะ 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดยนายพิธา และคณะ 1 ฉบับ และร่างที่เสนอโดยนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

จากนั้น เวลา 17.10 น. หลังสมาชิกอภิปรายเนื้อหาเสร็จสิ้น ได้เปิดให้เจ้าของร่างทั้ง 4 ร่างได้อภิปรายสรุปเนื้อหาอีกครั้ง กระทั่งเวลา 17.30 น. นายชวน ได้แจ้งสมาชิกถึงการลงมติว่า จะลงมติรวมทีเดียว หรือลงทีละฉบับ โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้รวมลงการลงมติ

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.เสนอว่าให้แยกลงมติทีละฉบับ นายชวนจึงขอมติที่ประชุม โดยที่ประชุมมีมติให้ลงมติแยกทีละฉบับ

โดยฉบับแรกซึ่งเป็นร่างของครม.ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 609 ต่อ 16 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 1

ฉบับที่สองซึ่งเป็นร่างของพรรคพท. ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 420 ต่อ 205 งดออกเสียง 14 ไม่ลงคะแนน 1

ฉบับที่สามซึ่งเป็นร่างของพรรค พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 598 ต่อ 26 งดออกเสียง 12

ฉบับที่สี่ซึ่งเป็นร่างของพรรค ก.ก. ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 418 ต่อ 202 งดออกเสียง 15 ถือว่า สมาชิกรัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ร่าง

จากนั้นมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ 49 คน แบ่งเป็น สัดส่วนจาก ครม.8 คน สว.14คน สภา 27 คน พลังประชารัฐ 6 คน เพื่อไทย 8 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคเศรษฐกิจไทย 1คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน

นายชวนได้สอบถามที่ประชุมว่า จะให้ร่างพรบ.ฉบับใดเป็นหลัก โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ร่างคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ซึ่งมีผู้รับรองครบตามจำนวน และมีการ แปรญัตติ 15 วัน และนัดประชุมครั้งแรก 1 มี.ค. เวลา 10.00 น.

เมื่อการลงมติร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้วเสร็จ ได้มีการพิจารณา ร่างพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีทั้ง 6 ฉบับที่เสนอโดยครม. พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ต่อเนื่องทันที