เปิด ส.ส. พรรคไหนใครแสดงตน ไม่แสดงตน จน “สภาล่ม” ซ้ำซาก

04 ก.พ. 2565 | 17:21 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 00:25 น.
2.7 k

เปิด ส.ส.พรรคไหนเข้าร่วมประชุมสภาเท่าไหร่ ไม่แสดงตนเท่าไหร่ จน “สภาล่ม” ซ้ำซาก พบ “เพื่อไทย”ไม่แสดงตนมากสุด 129 คน แสดงตนแค่ 2 คน กลุ่ม“ธรรมนัส”ไม่แสดงตน 18 คน "ไพบูลย์"อ้างส.ส.รัฐบาลลงมติมากสุด 

วันนี้(4 ก.พ.64) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ภายหลังเกิดเหตุ “สภาล่ม” ซ้ำซาก เนื่องจากมีส.ส.แสดงตน จำนวน 195 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ที่จำนวน 237 คน ตรวยสอบพบว่า พรรคเพื่อไทย แสดงตน 2 คน  คือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ และ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ไม่แสดงตน 129 คน 
พรรคก้าวไกล แสดงตน 43 คน ไม่แสดงตน 8 คน  

 

พรรคเสรีรวมไทย แสดงตน 1 คน ได้แก่ น.ส.ธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 9 คน 
พรรคประชาชาติ แสดงตน 1 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 6 คน พรรคเพื่อชาติ ไม่แสดงตนทั้ง 6 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 54 คน ไม่แสดงตน 43 คน 

ส่วนส.ส.ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 19 คน แสดงตนเพียง 1 คน คือ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น ที่เหลืออีก 18 คน ไม่แสดงตน ด้านพรรคภูมิใจไทย แสดงตน 33 คน ไม่แสดงตน 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้กักตัวโควิด 7 คน  สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แสดงตน 35 คน ไม่แสดงตน 15 คน

 

พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงตน 6 คน ไม่แสดงตน 6 คน พรรคชาติพัฒนา แสดงตนครบทั้ง 4 คน 
พรรคเศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 4 คน ไม่แสดงตน 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท แสดงตน 4 คน มีเพียง น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เท่านั้นที่ไม่แสดงตน ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 3 คน ไม่แสดงตน 2 คน คือ นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่แสดงตนทั้ง 2 คน 

สำหรับพรรคเล็กที่มีส.ส.เพียงคนเดียว ที่ไม่แสดงตน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติไทย 
พรรคเล็กที่มีส.ส.หนึ่งคน และแสดงตน คือ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม และ พรรคพลเมืองไทย

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม รวมถึง นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่แสดงตนทั้งที่นั่งอยู่ข้าง นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่แสดงตนเป็นองค์ประชุม 

 

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 65 เวลา 18.25 น. ในการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อลงมติร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ และจากผลการโหวตนั้นองค์ประชุมขาดไป 4 เสียง โดยตนได้จัดทำรายงานเป็นการโหวตครั้งที่ 143 พบว่า พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 97 คน มี ส.ส. โหวต 83 คน คิดเป็นร้อยละ 85.57 ซึ่งถือว่าเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มี ส.ส. โหวตมากที่สุด

 

สำหรับในภาพรวมนั้น มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล โหวต 175 คน คิดเป็นร้อยละ 65.54 แต่ที่น่าสนใจคือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. โหวต 14 คน คิดเป็นร้อยละ 10.69

 

ส่วนพรรคก้าวไกล มี ส.ส. โหวต 42 คน คิดเป็นร้อยละ 80.77 โดย ส.ส.ฝ่ายค้านมีจำนวนทั้งสิ้น 208 คน มาโหวต 59 คน คิดเป็นร้อยละ 28.37 เท่านั้น จึงเป็นผลให้องค์ประชุมขาดไป 4 เสียง ซึ่งในเวลานั้นเป็นเวลาเย็นและ ส.ส. หลายคนอาจติดภารกิจ

 

จากการเปรียบเทียบการโหวตในช่วงเช้าซึ่งเป็นการโหวตครั้งที่ 131 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. .... พบว่า พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. โหวต 84 คน คิดเป็นร้อยละ 86.60

 

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นตามปกติแล้วจำนวน ส.ส. ที่โหวตจะสูงมากแต่เนื่องจากถูกกักตัวจากโรคโควิด-19 จึงมาโหวตเพียง 59.32  แต่โดยรวมแล้ว มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล โหวต 204 คน คิดเป็นร้อยละ 76.40 สำหรับพรรคเพื่อไทย มี ส.ส. โหวต 6 คน คิดเป็นร้อยละ 4.58 ส่วนพรรคก้าวไกล มี ส.ส. โหวต 31 คน คิดเป็นร้อยละ 59.62

 

อีกทั้งยังได้จัดทำรายงานผลการติดตามการโหวตในเดือน ธ.ค. 64 ซึ่งมีจำนวน 70 โหวต พบว่า มี ส.ส. 7 คน ที่ไม่เคยมาโหวตเลย ในขณะที่มี ส.ส. จำนวน 50 คน ที่มาโหวตทุกครั้ง

 

นอกจากนี้ ได้จัดทำรายงานการโหวตของ ส.ส. โดยเรียงตามเลขที่บัตรอีกด้วย จึงขอมอบข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนได้ใช้เพื่อติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ส.ส.ต่อไป