นิพนธ์ร่วมปลุกจิตสำนึกขอความร่วมมืออปท.เร่งปรับปรุงซ่อมสร้างทางม้าลาย

25 ม.ค. 2565 | 20:15 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 03:23 น.

“นิพนธ์”ร่วมปลุกจิตสำนึก ขอความร่วมมือ อปท.เร่งปรับปรุง ซ่อมสร้างทางม้าลาย-สัญญาณไฟ เครื่องหมายจราจร เพื่อความปลอดภัยของชุมชน และสังคมที่ดีกว่า พ่วงการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด

วันที่ 25 มกราคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุทางถนน รถจักรยานยนต์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์หญิงเฉพาะด้าน จนเสียชีวิตบริเวณทางม้าลาย ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65  ว่า ตนขอร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ พญ.วราลัคน์ ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และนับเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ป่วยด้านดวงตาที่เป็นคนไข้ของคุณหมอ  

 

ทั้งนี้ในแต่ละปี มีคนไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากความสูญเสียของการเกิดอุบัติเหตุจากการข้ามถนน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559 - 2564  รวม 6 ปี พบว่า มีพี่น้องประชาชนคนเดินถนนต้องประสบเหตุจากการเดินข้ามถนนสูงมากถึง 224,068 คน   เฉลี่ยต่อปี กว่า 41,000 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากรถจักรยานยนต์ ชนคนข้ามถนน หรือคนเดินเท้าจนได้รับบาดเจ็บที่ทั้งเล็กน้อยไปถึงสาหัส และเสียชีวิต 

“ผมจึงขอเน้นย้ำถึงเรื่องของการขับขี่รถที่ผู้ขับขี่ ยวดยานพาหนะต้องระมัดระวังคนเดินเท้าเพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกของผู้ใช้รถ ใช้ถนนเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขับขี่ ต้องไม่ประมาท เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดในทางกลับกันว่า  ถ้าเราเป็นคนเดินข้ามถนน เราก็ต้องการความปลอดภัยเช่นเดียวกันใช่ไหม ดังนั้น โปรดปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  เมื่อเห็นสัญลักษณ์ สัญญาณไฟจราจร  หรือเข้าสู่เขตเมือง หรือชุมชน โรงเรียน ต้องชะลอลดความเร็วของรถลง” 

                                นิพนธ์ร่วมปลุกจิตสำนึกขอความร่วมมืออปท.เร่งปรับปรุงซ่อมสร้างทางม้าลาย

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือถึงพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ทั้ง อบจ. เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล อบต. ไปจนถึงหมู่บ้าน โรงเรียนและชุมชน ขอให้ร่วมมือกันปรับปรุง ซ่อมแซมทาสีสัญลักษณ์ทางม้าลายที่มีในพื้นที่ของส่วนท้องถิ่นให้มองเห็นได้ชัดเจน มีป้ายบอกแจ้งเตือนก่อนเข้าเขตชุมชน หรือโรงเรียน หรือหน้าตลาด จุดสัญจรของประชาชนที่พลุกพล่านทั่วประเทศ  

รวมถึงบริเวณทางเดินเท้า ฟุตบาทต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนเดินเท้า ทั้งยังรวมถึง การบังคับใช้กฎหมายจราจรที่รัดกุม เข้มงวด และการตรวจสอบ ปรับปรุง ซ่อมแซมสัญญาณไฟจราจร  จุดให้ไฟแสงสว่างบนท้องถนน เครื่องหมายจราจรต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์แจ้งเตือนทั้งผู้ใช้รถ และคนเดินเท้า ให้สามารถมองเห็นได้สะดวก ระยะไกล และชัดเจนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและลดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวของทุกคน 

 

“หากเราทุกฝ่ายร่วมมือ ร่วมใจทำ โดยการสร้างปลูกจิตสำนึกสาธารณะ ที่เอาใจเขา มาใส่ใจเรา ผมเชื่อว่าจะสามารถลดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนี้ได้ มาร่วมมือช่วยกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิมด้วยกัน”  นายนิพนธ์ กล่าว