“สมศักดิ์ พันธ์เกษม” ร้องบิ๊กป้อม ถูกขับจาก พปชร. ไม่เป็นธรรม

22 ม.ค. 2565 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2565 | 17:11 น.
524

“สมศักดิ์ พันธ์เกษม” ยังงงมีชื่อเข้าไปรวมอยู่กับกลุ่ม 21 ส.ส.ก๊วน “ธรรมนัส” ที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐได้ไง  ยื่นจดหมายร่ายยาวมากถึง “บิ๊กป้อม” ขอให้ทบทวนยกเลิกมติพรรค "โดยด่วนที่สุด" พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วานนี้ (21 ม.ค.) ระบุ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อเป็น 1 ใน 21 ส.ส.ที่ถูกให้ออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เรื่อง "ขอให้ทบทวนมติพรรคพลังประชารัฐ ให้สมาชิกออกจากการเป็นสมาชิกพรรค" โดยหนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้

 

ตามที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ มีมติที่อ้างถึงเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ให้สมาชิกพรรคพลังประชารัฐจำนวน 21 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5) โดยข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อสมาชิกพรรค 21 คน นั้นด้วย

นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม

ทั้งนี้ ปรากฎจากการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนทั่วไปถึงสาเหตุการมีมติที่อ้างถึงของกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคว่า ข้าพเจ้ากับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และพวกรวม 21 คน ได้ยื่นข้อเสนอให้มีการปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ซึ่งหัวหน้าพรรคเห็นว่าเป็นการสร้างปัญหาและเกรงจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในพรรค หากดำเนินการตามข้อเสนอจะทำให้เกิดความเสียหายของพรรคทั้งระบบ

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาหลักการแห่งพรรคพลังประชารัฐทั้งเรื่องเอกภาพ เสถียรภาพ และอุดมการณ์ของพรรค หัวหน้าพรรคจึงเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2585 ซึ่งที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเห็นว่า ไม่อาจรับข้อเสนอนั้นได้

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร.

แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอแจ้งว่าหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่รับข้อเสนอแล้วจะมีปัญหาการบริหารพรรค และจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับพรรค ซึ่งจะเป็นเหตุร้ายแรงกระทบกับเสถียรภาพพรรคต่อไป กรรมการบริหารพรรคจึงเห็นว่าเป็นเหตุร้ายแรงตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5) และมีมติให้ ร.อ. ธรรมนัส กับพวกรวม 21 คน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5) ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

 

มติพรรคพลังประชารัฐวันที่ 19 มกราคม 2565 ให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (4) ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นมติพรรคที่ไม่เป็นธรรมกับข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ามีการกล่าวอ้างว่า ข้าพเจ้าเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมกับการกระทำของ ร.อ. ธรรมนัส กับพวก

อีกทั้ง กรรมการบริหารพรรคมิได้สอบสวนหาข้อเท็จจริงและมิได้เปิดโอกาลให้ข้าพเจ้าได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก่อนการพิจารณาลงมติ และทำให้ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในการประชุมวันที่ 19 มกราคม 2565 ด้วย ข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับการความเป็นธรรมและไม่ได้รับการพิจารณาที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐข้อ 54 (5) จึงขอให้ท่านโปรดดำเนินการให้แก้ไขมติพรรคดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า โดยด่วน ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอเรียนว่า

 

1. ข้าพเจ้าไม่เคยทราบและไม่เคยใด้ยินมาก่อนว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ใดของพรรคพลังประชารัฐจะเสนอให้มีการปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ตามการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

 

2. ข้าพเจ้าไม่เคยเรียกร้อง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐขนานใหญ่ของ ร.อ. ธรรมนัส กับพวก ตามการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ฯ

 

3. ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีชื่อข้าพเจ้าเสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อพิจารณาลงมติว่าข้าพเจ้ากับ ร.อ. ธรรมนัส และพวกรวม 21 คน ได้ร่วมกันเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างพรรคและหากไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับพรรค อันจะเป็นเหตุร้ายแรงกระทบกับเสถียรภาพพรรค

 

ซึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้วก็ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รายอื่นของพรรคที่มีชื่อรวมอยู่ในจำนวนรายชื่อ 21 คนนั้น ที่ไม่ทราบเรื่องและไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวของ ร.อ. ธรรมนัส กับพวก เช่นเดียว กับข้าพเจ้า

 

4. จากการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ปรากฏว่า นาย ไพบูลย์ฯ กล่าวถึงแต่เพียง ร.อ. ธรรมนัสฯ แต่ผู้เดียวที่อ้างว่าหากไม่มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคแล้วจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ และจะทำให้เกิดความเสียหายกับพรรด ซึ่งจะเป็นเหตุร้ายแรงกระทบกับเสถียรภาพพรรคต่อไป

 

โดยนายไพบูลย์ฯ ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของข้อเสนอและการกระทำของ ร.อ. ธรรมนัสฯ กับพวก ว่ามีข้อเสนอหรือมีพฤติกรรมใดที่ทำหรือจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับพรรค และมิได้กล่าวถึงการกระทำใดๆ ของข้าพเจ้าและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านอื่นในรายชื่อ 21 คนนั้นด้วยเลยว่า ข้าพเจ้าหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นนั้นกระทำหรือจะกระทำการใดเป็นการส่วนตัวหรือโดยการร่วมกันกับ ร.อ. ธรรมนัสฯ ที่ทำหรือจะทำให้เกิดความเสียหายกับพรรค

 

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ฯ จะเห็นว่าการกระทำที่อาจเข้าข่ายหลักเกณฑ์ข้อบังคับพรรดพลังประชารัฐ ข้อ 54 (6) นั้น เป็นการกระทำของ ร.อ. ธรรมนัสฯ แต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับ ข้าพเจ้าหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครายอื่น ในรายชื่อ 21 คนนั้น

 

5. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ตามข้อเสนอของ ร.อ.ธรรมนัสฯ กับพวก (ไม่รวมข้าพเจ้าเพราะข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้อง) มีรายละเอียดเป็นประการใดที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่หลักการแห่งพรรคพลังประชารัฐ ทั้งเรื่องเอกภาพเสถียรภาพ และอุดมการณ์ของพรรค ตามที่กำหนดหลักเกณฑ์ในข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐที่จดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และโดยปกติแล้วการปรับโครงสร้างพรรคมิได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่พรรคและยังเป็นเรื่องที่สามารถเจรจาทำความเข้าใจกันได้ เพราะสมาชิกพรรคทุกคนต่างมีเจตนาดีต่อพรรค และตามปกติการปรับโครงสร้างพรรคก็เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อพรรคมิใช่เพื่อเป็นการทำให้พรรคเสียหาย

 

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในพรรคอยู่แล้วว่าจะมีการปรับโครงสร้างพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคเองก็เคยเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างพรรคให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพิจารณาเห็นชอบมาแล้วเมื่อคราวการประชุมกรรมการบริหารพรรควันที่ 28 ตุลาคม 2564 และโดยเฉพาะเมื่อผู้ที่เสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคตามการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ฯ คือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค ที่เป็นที่รับรู้กันว่ามีความรักพรรคและปรารถนาดีต่อพรรคตลอดมา จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ ร.อ. ธรรมนัสฯ จะเสนอให้มีการปรับปรุงพรรคหรือจะกระทำการใดให้มีผลเสียหายแก่หลักการแห่งพรรคพลังประชารัฐทั้งเรื่องเอกภาพ เสถียรภาพ และอุดมการณ์ของพรรค

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า

นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงยังเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปทั้งภายในและภายนอกพรรคว่า ร.อ. ธรรมนัสฯเป็นผู้ที่ให้ความเคารพและเชื่อฟังหัวหน้าพรรคเสมอมา ดังจะเห็นว่า เมื่อมีกรณีข้อขัดแย้งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ ร.อ.ธรรมนัสฯ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค แถลงข่าวว่าจะลาออกจากพรรค อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ยิ่งกว่าการเสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคนั้น เมื่อหัวหน้าพรรดเจรจาพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัสฯ แล้ว ร.อ.ธรรมนัสฯ ก็เชื่อฟังและยินยอมที่จะไม่ลาออกจากพรรค ยิ่งกว่านั้น ร.อ. ธรรมนัสฯ ก็เป็นเลขาธิการพรรคและเป็นกรรมการบริหารพรรค

 

ดังนั้น หาก ร.อ. ธรรมนัสฯ จะเสนอให้มีการปรับโครงสร้างพรรคจนอาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่พรรคจริงแล้ว ก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะสามารถเจรจาตกลงหรือแก้ไขปัญหากับ ร.อ. ธรรมนัสฯ ได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีลงมติให้ ร.อ. ธรรมนัสฯ กับพวก ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5)

 

6. หากข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ของ ร.อ. ธรรมนัสฯ มีอยู่จริง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติหรือดำเนินการใด จึงไม่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงใดๆ ต่อพรรคหรือเสถียรภาพของพรรคได้ อีกทั้งยังไม่มีการดำเนินการหรือการเคลื่อนไหวใดๆ จาก ร.อ.ธรรมนัสฯ กับพวก (ไม่รวมข้าพเจ้า) ที่ทำให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายร้ายแรงใดๆ ต่อพรรคหรือเสถียรภาพของพรรค ดังนั้น การที่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ด่วนพิจารณามีมติว่าข้อเสนอปรับโครงสร้างพรรคของ ร.อ.ธรรมนัสฯ กับพวก เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดเหตุร้ายแรงต่อพรรค แล้วมีมติให้ร.อ. ธรรมนัสฯ กับพวก รวม 21 คน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5) จึงไม่ถูกต้องและเป็นมติที่เป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุ ไม่เป็นธรรมกับข้าพเจ้า

 

7. การมีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐรวมไปกับ ร.อ.ธรรมนัสฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 21 คน อ้างเหตุว่ามีการก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงต่อหลักการแห่งพรรค ทั้งเรื่องเอกภาพ เสถียรภาพ และอุดมการณ์ของพรรคนั้น เป็นข้อกล่าวหาและเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อประวัติของข้าพเจ้าและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ข้าพเจ้าอย่างร้ายแรง

 

ดังนั้น กรรมการบริหารพรรคจึงควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าก่อนว่าข้าพเจ้ากระทำการตามที่ถูกกล่าวอ้างจริงหรือไม่ หรือข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัสฯ อย่างไร

 

โดยควรจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงและนำเสนอพยานหลักฐานอันเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐรรมนูญ และเป็นไปตามรูปแบบของการบริหารจัดการที่ดีของการบริหารพรรคการมือง อันจะนำไปสู่การสร้างความสามัคคีร่วมมือร่วมใจตามหลักการพื้นฐานของข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 4 (2) และยังเป็นการป้องกันมิให้เกิดความขัดแยังแตกแยกภายในพรรคซึ่งเป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการนำพาประเทศชาติมิให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก ตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับพรคพลังประชารัฐ ข้อ 6 และยังเป็นการปัองกันมิให้เกิดการใช้อำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคไปในทางที่มิชอบครอบงำ หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคตามรัฐธรรมนูญตามหลักการข้อบังคับพรรคข้อ 7 (4)

 

ดังนั้น การที่กรรมการบริหารพรรคมีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5) โดยอ้างว่าข้าพเจ้าได้ร่วมกับร.อ.ธรรมนัสฯ กับพวก รวม 21 คน กระทำการให้เกิดเหตุร้ายแรงแก่พรรค แล้วเสนอให้ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่มีการสอบสวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าเสียหายตามกฎหมายอย่างร้ายแรง

 

ทั้งนี้ มีกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคบางรายไม่เห็นด้วยและเห็นว่าการลงมติเช่นนั้นจะขัดต่อข้อบังคับพรรคด้วย

 

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101(9) วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า การพันจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามมติของพรรคการเมืองต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค แต่ข้อเท็จริงปรากฏว่าในการลงมติของที่ประชุมนั้นมีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย

 

และยังมีข้อสงสัยว่าการดำเนินการของที่ประชุมเป็นไปตามข้อบังคับพรรดและกฎหมายหรือไม่ แต่ผู้ดำเนินการประชุมกลับดำเนินการให้มีการลงมติของที่ประชุมต่อไป โดยการลงมติครั้งแรกนั้น ผลการลงมติของที่ประชุมได้คะแนนไม่ถึงสามในสี่ของจำนวนผู้เข้าประชุม ซึ่งต้องถือว่าการลงมติเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว แต่ผู้ดำเนินการประชุมกลับดำเนินการให้ที่ประชุมลงมติใหม่อีกครั้ง โดยก่อนการลงมติครั้งที่สองนี้ มีการเจรจากับผู้ที่งดออกเสียงขอให้ลงมติให้ข้าพเจ้ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นรวม 21 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 4 (3) ต่อไปอีกครั้งเพื่อให้ได้คะแนนครบสามในสี่ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ

 

แสดงให้เห็นว่ามีการกระทำที่เจตนาจงใจให้ข้าพเจ้ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นรวม 21 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐโดยไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เป็นการมุ่งร้ายให้ข้าพเจ้าและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 21 ราย พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นการร่วมกันกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ประวัติและชื่อเสียงของข้าพเจ้าอย่างร้ายแรง

 

อนึ่ง นอกจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ข้าพเจ้ายังเห็นว่าการดำเนินการให้มีมติของกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ให้ข้าพเจ้าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับ ร.อ. ธรรมนัสฯ กับ พวก รวม 21 คน โดยอ้างว่า ข้าพเจ้ากับ ร.อ. ธรรมนัสฯ กับพวก รวม 21 คน กระทำการให้เกิดเหตุร้ายแรงแก่พรรคตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54 (5) ที่วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคลิ้นสุดลงเมื่อพรรคการเมืองมีมติให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรบาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่น นั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมกับข้าพเจ้าอย่างยิ่ง โดยมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้

 

1. ก่อนวันที่ 19 มกราคม 2565 ข้าพเจ้าได้รับทราบจากนายวิวัช รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ว่า นายวิรัชฯ ได้ใส่ชื่อของข้าพเจ้าไว้กับคณะของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมผ่า เลขาธิการพรรค ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการปรับเปลี่ยนระบบของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประกอบกับนายวิรัชฯ เคยเป็นประธานวิปรัฐบาลทำให้ข้าพเจ้า เข้าใจว่านายวิรัชฯ หมายความว่าจะให้ข้าพเจ้าอยู่ในการดูแลของ ร.อ. ธรรมนัสฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าจึงไม่ได้สงสัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว

 

ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2565 มีการส่งข้อความทางไลน์ให้ข้าพเจ้ามาร่วมประชุมกับ หัวหน้าพรรคที่มูลนิธิป่ารอยต่อ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงห้องประชุมที่มูลนิธิป่ารอยต่อปรากฎว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนประมาณยี่สิบคน อยู่ในห้องประชุม เมื่อหัวหน้าพรรคเข้ามาในห้องประชุมได้แจ้งว่า ร.อ. ธรรมนัสฯ จะออกจากพรรค โดยจะมีการย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย และจะให้ พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค ให้นายอภิชัย เตชะอุบล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาชิการพรรค และให้พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณเป็นที่ปรึกษาพรรค โดยจะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสฯ ที่รวมตัวกันอยู่ในห้องประชุมนั้นย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมกับ ร.อ. ธรรมนัสฯ ด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่นำใบสมัครสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยมาให้ข้าพเจ้า และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐที่อยู่ในห้องประชุมลงนาม

 

ข้าพเจ้าจึงเพิ่งจะทราบความจริงว่าที่นายวิรัชฯ บอกกับข้าพเจ้าว่านำชื่อข้าพเจ้าไปอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัสฯ นั้น แท้จริงแล้วหมายความว่า จะให้ข้าพเจ้าย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัสฯ นั่นเอง ขณะนั้นมีการอ่านชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่มาประชุมซึ่งมีชื่อของ นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ส.ส. กำแพงเพชร ด้วย ข้าพเจ้าจึงเดินออกจากห้องประชุมโดยวางใบสมัครสมาชิกพรรดเศรษฐกิจไทยทิ้งไว้ ไม่นำติดตัวออกมา ช่วงที่เดินออกจากห้องประชุมนั้นข้าพเจ้าพบกับนายอนุชา นาคาศัย และนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส. ของพรรคที่เป็นรัฐมนตรีด้วย ข้าพเจ้าจึงพูดกับคนทั้งสองว่า ข้าพเจ้าไม่ย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย

 

ต่อมาระหว่างที่ข้าพเจ้านั่งรอพบแพทย์มีรายงานข่าวทางโทรทัศน์ว่า ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐมีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเนื่องจากข้าพเจ้าได้ร่วมกับ ร.อ. ธรรมนัสฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นรวม 21 คน เสนอปรับโครงสร้างพรรคที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อพรรค แต่กลับไม่ปรากฏชื่อของนายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ข้าพเจ้าจึงติดต่อสอบถามกลับมายังที่ประชุมว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นและข้าพเจ้าไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการเสนอปรับโครงสร้วงพรรคใดๆ ของ ร.อ. ธรรมนัสฯ ทั้งสิ้น

 

2. เช้าวันที่ 20 มกราคม 2565 ข้าพเจ้าได้มาพบหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเพื่อแจ้งให้ทราบข้อเท็จจริงและความประสงค์ของข้าพเจ้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเสนอปรับโครงสร้างพรรคของ ร.อ. ธรรมนัสฯ และข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ระหว่างนั้นได้พบกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ข้าพเจ้าจึงแจ้งเรื่องให้นายไพบูลย์ฯ ทราบ นายไพบูลย์ฯ แจ้งว่าไม่ทันแล้วเพราะมีการลงมติไปแล้วและนายไพบูลย์ฯ กำลังจะแถลงข่าวเรื่องดังกล่าว ข้าพเจ้าได้สอบถามนายไพบูลย์ฯ ว่าเหตุใดจึงไม่มีชื่อนายเพชรภูมิ อาภรณ์ตน์ ด้วย จึงทราบว่นายเพรรภูมิฯ ติดต่อเข้ามาแจ้งขอให้นำชื่อนายเพชรภูมิฯ ออกจากรายชื่อผู้ที่จะต้องย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยกับ ร.อ. ธรรมนัสฯ ก่อนจะมีการลงมติของพรรค สำหรับกรณีของข้าพเจ้านั้นมีการลงมติให้ออกจากพรรคไปแล้วจึงไม่อาจแก้ไขให้ได้

 

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าข้าพเจ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับความเสียหายจากการกระทำของกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐอย่างชัดแจ้ง จึงขอให้ท่านในฐานะหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐโปรดดำเนินการยกเลิกมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและมติที่ประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐที่มีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐข้อ 54 (6) โดยด่วนที่สุด

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

ขอแสดงความนับถือ

(นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ