ยุบสภา-เลือกตั้ง​ใหม่​ วันนี้ ใคร ได้เปรียบ

21 ม.ค. 2565 | 00:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 16:49 น.
3.3 k

ฟัง 2 นักวิชาการชื่อดัง เจษฎ์ โทณะวณิก-ยุทธพร อิสรชัย ตอบคำถาม "ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่" วันนี้ กลุ่มก๊วนใคร บิ๊กป้อม หรือ บิ๊กตู่ ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบมากกว่ากัน

อุณหภูมิการเมืองไทยยังคงร้อนแรงต่อเนื่องจนคอการเมืองห้ามกระพริบตา หากติดตามเกาะติดสถานการณ์การเมืองตลอดหลายวันมานี้ พบว่า เกิดความเคลื่อนไหวมากมาย เรียกได้ว่า เกิดขึ้นแบบรายวันกันเลยทีเดียว เมื่อวานนี้ 19 มกราคม 2565 สองแกนนำสี่กุมาร นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง จับมือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงษ์ อดีตรมว.พลังงาน เปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พรรคพลังประชารัฐมีมติขับกลุ่มก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และส.ส. รวม 21 ราย ออกจากพรรคฐาน เหล่านี้เป็นเพียงฉากหน้าบางส่วนที่มองเห็นยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ซุกซ่อนเอาไว้อีกมากมายให้ต้องติดตามกันต่อไป

 

ถามว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่ การยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ในห้วงเวลานี้ได้หรือไม่ ฐานเศรษฐกิจ ตั้งคำถามกับนักวิชาการสองท่าน มีคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้  

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า การยุบสภาคงไม่เกิดขึ้นเร็ววันนี้ เพราะว่าไม่มีปัจจัยอะไรที่จะเป็นผลให้เกิดการยุบสภาเกิดขึ้น

 

แต่สมมติว่า ถ้าสถานการณ์สุกงอมจากหลายปัจจัย อาทิ ประชุมสภาล่มบ่อยๆ กฎหมายสำคัญผ่านการพิจารณาไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ กรณีศาลวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ผลทำให้ประเทศเดินไม่ได้ จนต้องมีการยุบสภาเกิดขึ้นจริง กลุ่มของ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ และกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะพลิกจากที่กำลังเสียเปรียบมาเป็นได้เปรียบทางการเมือง

 

ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า การยุบสภาจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้แน่ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่พร้อม ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ต่อให้พ้นสถานการณ์โควิดไปแล้ว การชุมนุมกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก หรือ ยุบสภา ถึงเวลานี้จุดติดยาก

ถ้าจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น เชื่อว่า กฎหมายลูก คือ กฎหมายเลือกตั้งที่ต้องออกโดย กกต.ต้องพร้อมก่อน อย่างไรก็ดี หากมีการเลือกตั้งใหม่ตอนนี้ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเพราะกกต.ก็จะยืนกฎหมายใหม่ กฎหมายที่เป็นอยู่ให้ใกล้เคียงมากที่สุด สถานการณ์การเมืองเวลานี้เป็นเรื่องของการต่อรองกัน

 

สอดรับกับความเห็นของ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวยืนยันโดยเชื่อมั่นว่า การยุบสภา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน สิ่งที่หนึ่ง คือ คำยืนยันจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่กล่าวและพูดมาตลอดว่า จะยังไม่ยุบสภา ขณะเดียวกันก็ยังไม่เห็นสัญญาณใดที่จะทำให้มีการยุบสภาเกิดขึ้น

 

กรณีกฎหมายเลือกตั้งใหม่บัตรสองใบมีผลใช้บังคับแล้วเหลือกฎหมายลูกซึ่งหากมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เชื่อว่า กกต.ก็ต้องยึดกติกาใหม่นี้ให้มากที่สุด เมื่อมองในแง่ของกฎหมายเลือกตั้งใหม่นี้ใช้การเลือกตั้งในลักษณะของคู่ขนาน สำหรับพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก คือ พรรคที่มีจำนวน ส.ส. 3 ที่นั่ง กลุ่มนี้ยังมีโอกาสอยู่ ขณะที่พรรคจิ๋ว คือ พรรคที่มี ส.ส.คนเดียวก็จะยาก

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ยุทธพร ให้ความเห็นวิเคราะห์โอกาสและเส้นทางของพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคสร้างอนาคตไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่ว่า สำหรับพรรคนี้เป็นพรรคเกิดใหม่แต่ให้มองก็เป็น พรรคสาขาของพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องดูบทบาทหลังจากนี้เพราะหากย้อนกลับไปวันที่สี่กุมารเดินออกจากพรรค พปชร.นั้นไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับพรรคมากมายอะไร เหมือนกับที่กลุ่มก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส ถูกขับออกจากพรรค

การสร้างพรรคใหม่วันนี้ไม่ง่าย ต้องดูในพรรค 4 กุมาร ความเป็น เทคโนแครต มีความชัดเจน แต่อย่าลืมว่า งานการเมืองซึ่งสำคัญมากสำหรับการเมืองไทยคือการขับเคลื่อนในพื้นที่ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ เมื่อตอนที่สี่กุมารลาออกมาจึงไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นภายในพลังประชารัฐมากมายนัก

 

ถามถึงความเป็นไปได้ว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะเข้าร่วมกับพรรคสร้างอนาคตไทยนี้หรือไม่นั้นก็มีความเป็นไปได้ 

 

"การเมืองไทยปี 2565 นี้ มีหลายเรื่องที่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวและยังต้องเกาะติดสถานการณ์กันต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่าทีของกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี กับ พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ, กลุ่มก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส

 

การเมืองปี 2565 มี 4 เรื่องที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ท่าทีของนายกฯ ที่อาจประกาศลาออก หรือ ประกาศยุบสภา 2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี และ 4.การเกิดรัฐประหาร ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองทั้งสิ้น"