สนธิญา ร้อง กกต. สอบปม"วิฑูรย์"เจรจา"ทักษิณ" ขอเข้าเพื่อไทย

12 ม.ค. 2565 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 21:24 น.

สนธิญา ร้อง กกต.สอบข้อเท็จจริงกรณี “วิฑูรย์ ” เจรจา “ทักษิณ” ขอเข้าเพื่อไทย ชี้หากปล่อยคนนอกครอบงำ โทษถึงขึ้นยุบพรรคได้

 วันที่ 12 ม.ค. 2565 ที่สำนักกงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย กรณีของนายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรณีที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 และ 92 โดยนายสนธิญากล่าวว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิฑูรย์และ พล.อ.พัลลภ ทั้ง 2 คนได้ประสานไปยังพรรคเพื่อไทย

 

โดยนายวิฑูรย์ได้ประสานกับนายเกรียง กัลป์ตินันท์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และเปิดเผยผ่านช่องอุดรคอนเนคว่า ได้มีการเจรจาและต่อสายตรงไปยังนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งการที่นายวิฑูรย์จะเข้าไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และในกรณีของ พล.อ.พัลลภระบุว่าได้พูดคุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กรณีที่ไม่ได้รับเชิญไปร่วมประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีการพูดโยงไปถึงนายทักษิณ จึงขอให้ กกต.เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยนายวิฑูรย์ นายเกรียง พล.อ.พัลลภ นพ.ชลน่าน มาตรวจสอบว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องจริงหรือไม่

สนธิญา ร้อง กกต. สอบปม\"วิฑูรย์\"เจรจา\"ทักษิณ\" ขอเข้าเพื่อไทย

นายสนธิญากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้ตรวจสอบโทรศัพท์ของนายวิฑูรย์และ พล.อ.พัลลภ ว่าได้มีการใช้โทรศัพท์ติดต่อประสานงานเรื่องทั้งหมด รวมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งนี้ หากพบว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้การอันเป็นเท็จ กกต.ต้องแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และหากพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริง เป็นหน้าที่ของ กกต.ต้องดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำบริหารพรรคการเมือง ตามมาตรา 92 กกต.จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรค

“การที่ นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ว่าจะฟ้องผู้ที่มาร้องในเรื่องดังกล่าว ผมในฐานะผู้ร้อง เห็นว่าเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะมาข่มขู่กัน ถ้ามีเอกสารให้แจ้งความได้เลย ตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็สามารถที่จะใช้สิทธิในการเรียกร้องเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามระบอบรัฐธรรมนูญเช่นกัน”