ตำรวจเครียดพุ่งประเดิมปี 65 ฆ่าตัวตายแล้ว 2 ราย

04 ม.ค. 2565 | 17:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2565 | 00:44 น.

สตช.เผยรอบ 13 ปี มี ตำรวจ 443 ราย “ฆ่าตัวตาย” เฉพาะปีที่แล้วสูญเสีย 21 นาย เหตุความเครียดเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนี้สิน “ผบ.ตร.” มีนโยบายช่วยเหลือแก้ไข พุ่งเป้าไปที่สหกรณ์

วันที่ 4 ม.ค.2565 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจํานงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(โฆษก สตช.)  เปิดเผยถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน 2 นาย ฆ่าตัวตาย ในพื้นที่สน.พญาไท และ สน.พหลโยธิน ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยยอมรับ ว่า ตามสถิติสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาสุขภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ปัญหาหนี้สิน รวมถึง ปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องส่วนตัว ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตำรวจฆ่าตัวตาย

 

โดยสถิติสาเหตุตำรวจฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 2551-2564 มีตำรวจเสียชีวิต 443 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย ปัญหาอื่นๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย โดยในปี 2564 มีการสรุปสาเหตุการตาย 21 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย ปัญหาหนี้สิน 5 นาย ปัญหาส่วนตัว 3 นาย ปัญหาเรื่องงาน 1 นาย ปัญหาอื่นๆ 1 นาย

ส่วนปัญหาสุขภาพ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจากความเครียดทางจิต หรืออาการป่วยทางร่างกาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นให้ตำรวจทุกนายตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งร่ายกายและสุขภาพจิต เนื่องจากตำรวจต้องทำงานภายใต้งานที่กดกัน และสุ่มเสี่ยง ซึ่งทางรพ.ตำรวจ ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตให้คำแนะนำตลอด 24 ชม. อีกทั้งการตรวจประจำปี ตร.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คำแนะนำกับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Depress We Care โทร 081-932-0000 ปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

โฆษก สตช. ยังยอมรับว่า ขณะนี้ รพ.ตร. อยู่ระหว่างเพิ่มศักยภาพ เกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพจิต โดยจะเน้นการเพิ่มบุคลากร เพื่อให้บริการตำรวจทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง ขณะนี้พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความเครียดมากขึ้น จึงเตรียมให้ความสำคัญกับสุขภาพทางจิตเป็นพิเศษ 

ทั้งนี้ ตำรวจทุกนายก่อนจะเข้ารับราชการจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตทุกนาย แต่ไม่ได้ยืนยันว่า การเข้ามารับราชการ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการป่วยเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าตำรวจมีภาวะเครียด หรืออาการทางจิตมากน้อยเพียงใด

 

ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตทั้ง 2 พื้นที่ ขณะนี้ทางผู้บังคับบัญชายังไม่สามารถสรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายได้ เพราะเหตุเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ด้านปัญหาหนี้สินที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยขณะนี้นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) มีนโยบายและแนวทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลข้าราชการตำรวจที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท หรือ เฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาทแล้ว ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขที่โครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องสหกรณ์ ทางสำนักงานตำรวจได้มอบหมายให้พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ขับเคลื่อนไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตาย ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ผู้กำกับการ และหัวหน้าสถานี ดูแลกำกับอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาจะต้องเอาใจใส่ หากเกิดการสูญเสีย จะเข้าข่ายบกพร่องในการดูแลลูกน้องหรือไม่ยังเร็วเกินไปที่ตอบได้ในเวลานี้