เปิดวีรกรรมฉาว “สิระ เจนจาคะ” คดียาวเป็นหางว่าว

22 ธ.ค. 2564 | 20:23 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 03:50 น.
14.8 k

สิระ เจนจาคะ ในวัย 57 ปี ต้องยุติบทบาทการทำหน้าที่ ส.ส.ลง อันเนื่องมาจากพฤติกรรมในอดีตของเขา ที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเขาเคยสร้างวีรกรรมต่าง ๆ ไว้มากมาย

สิระ เจนจาคะ ในวัย 57 ปี ต้องยุติบทบาทการทำหน้าที่ ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ลง ณ วันที่ 22 ธ.ค.2564 

 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เขาพ้นเก้าอี้ส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา คดีร่วมกันฉ้อโกง ตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นร้องต่อ กกต.เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

 

 

สำหรับ สิระ เจนจาคะ ถือเป็นคนที่มักสร้างวีรกรรม จนเป็นข่าวให้ได้ติดตามกันตลอดตามสื่อ และโซเชียลมีเดีย บ่อยครั้ง ด้วยพฤติกรรม ปะ ฉะ ดะ เรียกเสียงฮือฮาได้ตลอดช่วงที่ผ่านม 


ช่วงแรกของการเป็นส.ส. ของ สิระ อยู่ในสังกัดกลุ่มสามมิตร นำโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เขาเคยสร้างวีรกรรม ขับไล่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมให้เหตุผลและทิ้งวลีเด็ดว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคและรัฐบาลอย่างสูง บริหารงานผิดพลาดหลายเรื่อง ไร้ภาวะผู้นำ ไม่สามารถเข้าถึงตัวเพื่อปรึกษาปัญหาได้ 

แต่วีรกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือ พฤติกรรม “กร่าง” ใส่ตำรวจท้องภูเก็ต ระหว่างนำคณะตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง คอนโดมิเนียม เพราะไม่พอใจที่มาต้อนรับดูแลคณะล่าช้า จนมีคลิปเผยแพร่ออกมา เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 

 

และนำไปสู่การล่าชื่อส.ส.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย พฤติกรรม “กร่าง” แต่เมื่อ 10 มิ.ย.2563 ศาลฯ ก็วินิจฉัยว่าเขาไม่มีความผิดถึงขั้นต้องหลุดจากเก้าอี้ส.ส.

                             เปิดวีรกรรมฉาว “สิระ เจนจาคะ” คดียาวเป็นหางว่าว

ส่วนบทบทบาทในสภา สิระ เคยสร้างความฮือฮาด้วยการทำเหรียญหลวงพ่อป้อม รุ่นป่ารอยต่อ เป็นเหรียญห้อยคอ รูป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำจากทองคำ น้ำหนัก 50 สตางค์ ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ครั้งที่ผ่านมา

 

ขณะเดียวกัน สิระ เจนจาคะ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ถือเป็นคู่ปรับกัน เพราะด้วยบทบาทที่ สิระ ได้รับให้เป็น 1 ในองครักษ์พิทักษ์นายกฯ จึงพยายามตีรวนการตรวจสอบนายกฯ ในหลายเรื่องในคณะ กมธ. อาทิ กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พยายามตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ตามรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกของ คณะกรรมาธิการป.ป.ช. จนกลบสาระสำคัญในการทำงานของ กมธ.ชุดดังกล่าว 

 

ทั้ง สิระ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมา กันมาโดยตลอด ถึงขนาดประกาศไม่เผาผีกันและกัน 

 

ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่ง สิระ เคยนำสื่อมวลชนล่องเรือตรวจสอบบ้านพักของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ก่อสร้างรุกลำน้ำเจ้าพระยา จนถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา แต่ท้ายที่สุด ศาลพิพากษายกฟ้อง และ สิระ ยังเคยหิ้วกระเช้ามาอวยพรปีใหม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ทั้งขออภัยสิ่งที่เคยล่วงเกินอีกด้วย

                               เปิดวีรกรรมฉาว “สิระ เจนจาคะ” คดียาวเป็นหางว่าว

และที่ สิระ เจนจาคะ ต้องหลุดจากเก้าอี้ส.ส. ก็เพราะคู่รักคู่แค้น อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นี่แหละ ที่ไล่ตรวจสอบประวัติรื้อฟื้นคดีของเขา และเป็นคนเปิดประเด็นคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. ด้วยการล่าชื่อส.ส.ฝ่ายค้านยื่นร้องต่อ กกต. ด้วยเหตุว่า คุณสมบัติเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นส.ส. เนื่องจากเคยต้องโทษคดีฉ้อโกง เมื่อปี 2538 ซึ่งศาลแขวงปทุมวัน ตัดสินจำคุก 8 เดือน แต่เจ้าตัวรับสารภาพ จึงลดโทษ เหลือ 4 เดือน 

 

ขณะที่ในช่วงโควิด-19 ระบาด ระลอกแรก จนส่งผลให้หน้ากากอนามัยขาดตลาดอย่างหนัก สิระ ได้พยายามจัดหาหน้ากาก มาแจกจ่ายประชาชน แต่กลับถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องคุณภาพของวัสดุที่ใช้ผลิต อาจมีเส้นใยก่อสารพิษ จนเกิดวิวาทะกันระหว่างนักวิชาการ กับ อ.อ๊อด วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 

 

นอกจากนี้ สิระ ยังออกมาปกป้อง “นายกฯลุงตู่” หลังจาก ส.ส.เต้-มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์ท้าชกกับนายกฯ สิระเลยออกหน้าตอกกลับ ส.ส.เต้ อย่างเจ็บแสบว่า อย่าทำสภาตกต่ำ "ฟันดีๆ เก็บไว้กินข้าวดีกว่า" สิระ ระบุ จนทั้งคู่เกือบจะวางมวยต่อหน้าสื่อ มาครั้งหนึ่งแล้ว

                              เปิดวีรกรรมฉาว “สิระ เจนจาคะ” คดียาวเป็นหางว่าว

ไม่เพียงเท่านั้น คนในขั้วตรงข้าม สิระ ยังเคยจัดหนักคนในรัฐบาล อย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  จากกรณีที่หมอเลี้ยบ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นผอ.พรรคเพื่อไทย ทั้งที่เคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกมาแล้ว จึงมีข้อสังเกตว่าขัดข้อบังคับพรรค เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม ส่อขัดพ.ร.บ.พรรคการเมือง 

 

จน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรค แต่ในส่วนของ วิษณุ กลับระบุว่า กรณีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นกรรมการบริหาร ส่งผลให้สิระ ตั้งข้อสงสัยว่า วิษณุ เป็นฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล หรือ พรรคเพื่อไทย พฤติกรรมมักปกป้องพรรคเพื่อไทย หรือไม่ก็มักแสดงความคิดเห็นในเชิงเป็นคุณกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

 

สิระ เจนจาคะ ยังเคยท้าพิสูจน์กรณีไฮโซ ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หากตาบอดสนิท จากความรุนแรงที่เกิดในระหว่างการชุมนุมกลุ่มราษฎร ให้พาหมอมายืนยันพร้อมใบรับรองแพทย์จะให้เงินสด 1 ล้านบาท 

นอกจาก “วีรกรรม” ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  สิระ เจนจาคะ ยังปรากฏมีชื่อเป็นผู้กระทำผิดตั้งแต่ ทำร้ายร่างกาย, หมิ่นประมาท, ฉ้อโกง หรือ แม้แต่คดีที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค, และคดีขับรถประมาท ซึ่งเรื่องนี้วอยซ์ ออนไลน์ เคยรวบรวมคดีความที่มีชื่อของ สิระ ปรากฏในหลายท้องที่รวมทั้งสิ้น 20 คดี เริ่มจาก

 

สน.ลุมพินี 

- คดีอาญาที่ 1447/2537 ข้อหา ออกเช็คโดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี (พ.ร.บ.เช็คฯ) วันที่เกิดเหตุ 15 มี.ค.2537 ผู้ต้องหาหลบหนี ออกหมายจับ ศาลแขวงใต้ ที่ 196/2537 วันที่ 21 ม.ค. และถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2538

 

- ศาลอาญาที่ 2002/2537 ข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี (พ.ร.บ.เช็ค) วันที่เกิดเหตุ 29 มี.ค.2537 แจ้งข้อกล่าวหาวันที่ 21 ม.ค. 2538 และถูกอายัดตัวในคดี 2295/2537, 2110/2537 และ 1447/2537

 

- คดีอาญาที่ 512/2537 และคดีอาญาที่ 2318/2537 ข้อหาฉ้อโกง และปลอมและใช้เอกสารทางราชการปลอม ผู้เสียหาย บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน ผู้ต้องหา นายสิระ เจนจาคะ อัยการพิเศษฝ่ายคดีสั่งไม่ฟ้องในข้อหาปลอมและใช้เอกสารทางราชการปลอม และมีความเห็นให้สั่งฟ้องในข้อหา ฉ้อโกง ไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีแขวง 5 (ปทุมวัน) ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี มีหนังสือขออายัดตัว ผู้ต้องหาคือ นายสิระ เจนจาคะ ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามหนังสือ มท.0514.351/12014 ลวันที่ 26 ก.ย. 2538 อ้างถึงหนังสือเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่ มพ.0947/1659 ลงวันที่ 15 ส.ค. 2538

                        เปิดวีรกรรมฉาว “สิระ เจนจาคะ” คดียาวเป็นหางว่าว

- คดีอาญาที่ 2088/2537 ข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี (พ.ร.บ.เช็ค) ผู้กล่าวหาคือ กรมสรรพากร ผู้ต้องหาที่ 1 บริษัท สิระตาธุรกิจ จำกัด โดย นายสิระ เจนจาคะ ผู้ต้องหาที่ 2 นายสิระ เจนจาคะ ได้มีหนังสืออายัดตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่ มท.4514.351/1831 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2538 ให้พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี อายัดตัวผู้ต้องหา คดีดังกล่าวมีความเห็นสั่งฟ้อง โดยอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง (ปทุมวัน) ลงวันที่ 11 เม.ย. 2538

 

สน.บางขุนนนท์

- คดีอาญาที่ 47/2563 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 52/2563 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 60/2563 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 69/2563 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 70/2563 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 71/2563 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 74/2563 ลงวันที่ 1 ก.พ. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 79/2563 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 98/2563 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 107/2563 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

- คดีอาญาที่ 108/2563 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2563 ข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา

 

สภ.เมืองปทุมธานี 

 

- คดีอาญาที่ 3208/2543 ข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ

- คดีอาญาที่ 614/2556 ข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ

 

สภ.คลองวาฬ จ.ประจวบคีรัขันธ์

- คดีจราจรที่ 14/2555 ข้อหาจับรถประมาท ทรัพย์สินเสียหายฯ

 

สภ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา

- คดีอาญาที่ 88/2545 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ผู้ต้องหานายชลสิทธิ์ เจนจาคะ (ชื่อเดิม)

 

สน.สูงเม่น

- คดีอาญาที่ 322/2540 ข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส

 

โดยคดีที่กล่าวมาข้างต้นของนายสิระ สามารถแบ่งออกได้เป็นคดีทำร้ายร่างกาย, คดีฉ้อโกง, คดีหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และคดีความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค และคดีขับรถประมาท ซึ่งบางคดีมีเอกสารแสดงให้เห็นว่า นายสิระ เคยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า สิระ มีพฤติกรรมที่ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ หากมีใครขัดใจไม่ตามใจความคิด สิระ จะหาเรื่องทะเลาะ หรือกระทบกระทั่งด้วย เช่น เมื่อประมาณเดือน ก.พ. มีข้อมูลว่า ตอนนั้น สิระ เป็น กต.ตร. ในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ของสน.ทุ่งสองห้อง มีปัญหาไม่พอใจ พ.ต.อ.เติมเผ่า สิริภูบาล ผกก.สน.ทุ่งสองห้อง ในขณะนั้น โดยนายสิระ รู้สึกว่า พ.ต.อ.เติมเผ่า ไม่ทำงานหรืออำนวยความสะดวกให้นายสิระ ตามที่ต้องหาร นายสิระจึงดำเนินการใส่ร้ายโจมตี พ.ต.อ.เติมเผ่า จน พ.ต.อ.เติมเผ่า ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า 

"กต.ตร.ทุกคนที่ทำงานกับผม ผมก็ยินดีด้วย แต่ถ้าคนไหนที่มีความรู้สึกไม่ดีกับเราแล้วจะมากดดันทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือมาเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออะไรก็ตามผมก็ไม่แน่ใจ ไม่ขอพูด ผมไม่เคยมีปัญหากับ กต.ตร. เพราะ กต.ตร. เป็นคนที่คอยช่วยตำรวจ ถ้าผมไปทะเลาะกับ กต.ตร. แล้วใครจะช่วยตำรวจ" พ.ต.อ.เติมเผ่า กล่าว

 

ทั้งหมดคือ “วีรกรรม” ของ สิระ เจนจาคะ ที่ต่อไปเราจะไม่เห็นบทบาทห้าวๆ  ของเขาในสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว 

 

แต่จะได้ส่ง “ภรรยา” ลงรักษาเก้าอี้ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ ไว้ได้หรือไม่ ต้องรอให้พรรคพลังประชารัฐมีมติออกมาก่อน...