“อลงกรณ์”เตือน“ชลน่าน”อย่าทำผิดซ้ำสองหลังประกาศรื้อฟื้นจำนำข้าว

07 ธ.ค. 2564 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 00:11 น.

“อลงกรณ์” แนะ “ชลน่าน” อย่าทำผิดซ้ำสอง หลังประกาศรื้อฟื้นโครงการจำนำข้าว ชี้สมาคมชาวนาหนุนโครงการประกันรายได้เหตุตอบโจทย์ปฏิรูปข้าวมากกว่า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า “…โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น…” 

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นพ.ชลน่าน ควรศึกษากรณีอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ แกนนำพรรค ข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจที่ติดคุก เพราะทุจริตโครงการจำนำข้าว รวมทั้งรายงานการศึกษาของทีดีอาร์ไอ (TDRI) ประเด็นความเสียหายที่ก่อหนี้ให้กับประเทศหลายแสนล้าน หากคิดจะฟื้นคืนชีพโครงการนี้ 

โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่รัฐซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนาแล้วจ้างโรงสีสีข้าวและเก็บข้าว เป็นการซื้อแพงสูงกว่าราคาตลาด โดยหวังว่าเมื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้มากๆ และซื้อราคาสูงจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นตาม ซึ่งเป็นแนวคิดทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และไม่สามารถระบายขายออกเพราะซื้อมาแพง ทำให้ข้าวค้างสต็อกหลายล้านตัน ในที่สุดโครงการขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวติดหนี้ค้างจ่ายชาวนา หลายคนถึงกับฆ่าตัวตายจนเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปี 2556-57

ประการสำคัญคือ การซื้อข้าวทุกเม็ดเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ได้ทำลายมาตรฐานการผลิตและคุณภาพข้าวไทย และยังสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ หรือ แบรนด์ข้าวของเราในตลาดโลก รวมทั้งการมีข้าวค้างสต็อกในประเทศไทยหลายล้านตัน มีผลต่อการกดทับราคาข้าวในตลาดโลก

 

“ยิ่งกว่านั้นยังมีการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีคนของรัฐบาลร่วมกับเครือข่ายพรรคพวกนักธุรกิจพ่อค้าโกงกันแบบมโหฬารเป็นขบวนการใหญ่จนต้องโทษติดคุกจำนวนมาก นับเป็นโครงการที่ล้มเหลวมีการคอร์รัปชันอื้อฉาวมากที่สุด และเสียหายมากที่สุดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท จนถึงวันนี้ประเทศยังต้องใช้หนี้ที่โครงการจำนำข้าวก่อไว้ อีกหลายปีกว่าจะหมด อย่าทำผิดซ้ำสองเลยครับ” 

 

นายอลงกรณ์ ยังแนะนำด้วยว่า ลองไปหาอ่านผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ(TDRI) เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว จะเข้าใจในเรื่องที่ตนกล่าวมาทั้งหมด

 

“คิดทบทวนให้ดี ไปสร้างนโยบายดีๆ มีคุณภาพมานำเสนอใหม่น่าจะดีกว่า”   

 

สำหรับโครงการประกันรายได้ที่วิจารณ์ โดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและเหตุผลอย่างรอบด้าน ทำให้ตนต้องขอโอกาสในการทำความเข้าใจ

 

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวนาเป็นการประกันรายได้ไม่ใช่ประกันราคา เมื่อราคาข้าวต่ำกว่าเกณฑ์ประกันรายได้ ชาวนาจะได้เงินส่วนต่างชดเชย เช่นถ้าชาวนาขายโรงสีได้ 7,000 บาท ก็จะได้ชดเชยส่วนต่าง 3,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้าที่ความชื้น 15% เป็นต้น โดยระหว่างนั้นก็มีมาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อยกระดับราคาข้าวและสนับสนุนการผลิตของชาวนาการจ่ายเงินส่วนต่างจะโอนตรงจาก ธ.ก.ส.ไปยังบัญชีชาวนาโดยตรง เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล

 

และเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลเพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้ (Universal basic income)จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤติไปทั่วโลก ถือเป็นนโยบายเรือธง (Flagship policy) ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

 

โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ 30 ล้านคน เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุด ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเรา จนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท ต่อปีในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา

                                         อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โครงการประกันรายได้ไม่ใช่โครงการโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ของการปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของข้าวและชาวนาภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ขับเคลื่อนด้วย 4 ยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำ การผลิต มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธุ์ สร้างมาตรฐานเชื่อมโยง “กลางน้ำ” การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและ “ปลายน้ำ” คือการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

 

ทั้งนี้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ก็ประกาศเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ปฏิรูปข้าว 5 ปีการปฏิรูประบบข้าวในพื้นที่ 60 ล้านไร่ ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลารวมทั้งต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ทำได้ไวทำได้จริง

 

วันนี้การปฏิรูปข้าวทั้งระบบครบวงจรเริ่มคืบหน้าในทิศทางที่ถูกต้องอย่างมีอนาคต ตัวอย่างเช่น โครงการGlobal Food Valley หรือนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารที่มีศูนย์แปรรูปข้าวใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังสร้างในเขตผลิตข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ,โครงการข้าวอินทรีย์(Organic Rice)ตั้งเป้า 1,000,000 ไร่ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิในภาคอีสานผ่านการรับรองกว่า3แสนไร่แล้ว 

 

การพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรอย่างมีเป้าหมายขยายตลาดข้าว,การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC-Agritech and Innovation Center)ครบทั้ง77จั งหวัด เป็นครั้งแรก เพื่อดูแลภาคเกษตรทุกจังหวัดไ ด้คิกออฟพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทำหน้าที่วิจัย และพัฒนาสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรชาวนาและนาข้าวทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ตลอดจนการยกระดับนาแปลงใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรกลและระบบเกษตรอัจฉริยะกว่า 3,000 แปลงในทุกภาค

 

รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมพันธุ์ข้าวใหม่ใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ ข้าวพื้นแข็ง ข้าวพื้นนุ่ม และข้าวโภชนาการสูง ซึ่งมีศักยภาพสูง ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน
การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young smart farmer) กว่า 20,000 คน และ สมาร์ท ฟาร์ม (Smart Farmer)

 

การส่งเสริมการค้าข้าวออนไลน์ สร้างทีมอีคอมเมิร์ซครบทุกจังหวัดแล้วภายใต้โครงการ Local Hero และ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center: NABC) เป็นครั้งแรก เริ่มเปิดทำการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

 

ต่อไปชาวนาจะมีข้อมูลทั้งการผลิตจนถึงข้อมูลราคาและสถานการณ์ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยแอพพลิเคชันดูได้บนมือถือของตัวเองจะไม่ถูกใครเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

 

“ยังมีโครงการอีกมากที่ไม่อาจกล่าวได้หมด หากสนใจมานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลได้ตลอดเวลา ผมคิดว่าเราจะย่ำเท้าอยู่กับที่ปล่อยให้ปัญหาจมปลักอยู่ที่เดิม หรือ มีโครงการฉาบฉวยแบบเดิมๆ และชาวนาต้องติดหล่มความยากจนและหนี้สินเหมือนในอดีตอีกต่อไปไม่ได้ การปฏิรูปข้าวเชิงโครงสร้างและระบบเป็นโมเดลการบริหารจัดการที่จำเป็นและสำคัญมากซึ่งกำลังเร่งดำเนินการ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ซึ่งท่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับ” นายอลงกรณ์ ระบุ