บช.น. แจง 6 ข้อจับกุม ม็อบ"จะนะรักษ์ถิ่น"

07 ธ.ค. 2564 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 20:26 น.

โฆษก บช.น. แจง 6 ข้อหาจับกุม ผู้ชุมนุม"กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น" ยันมีผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาร่วมการชุมนุม ทั้งผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าผิดซ้ำจะส่งผลเรื่องขอการถอนประกันตัว

วันที่ 7 ธ.ค.2564  ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกบช.น. กล่าวชี้แจงกรณีจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่า เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด 37 คน แบ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 31 คน สาเหตุที่ต้องจับกุม 1.ชุมนุมกีดขวางจราจรตั้งวางสิ่งของบนพื้นจราจร 2.เกรงว่าจะแพร่เชื้อโรคขอตรวจสอบผู้ชุมนุมก็ไม่ยินยอม 3.เจ้าหน้าที่เจรจาหลายครั้งตั้งแต่เริ่มชุมนุม 15.40 น. เพื่อขอให้ย้ายไปสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้แต่ก็ไม่ยอมย้าย

 

4.กลุ่มนี้เคยเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 63 รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ และการชุมนุมก็ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง 5.การข่าวทราบมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมอาจจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและก่อความไม่สงบ และ 6.การเข้าจับกุมไม่ใช่สลายชุมนุมเป็นการเจรจาก่อนเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายไม่ใช้ความรุนแรงโดยใช้กำลังเจ้าหน้าตำรวจคฝ.หญิง และหยิบสิ่งของออกที่กีดขวางออกจากพื้นที่

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกบช.น.

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ทั้ง 6 ข้อเป็นเหตุผลความจำเป็นต้องจับกุมผู้ชุมนุมดำเนินคดี สิ่งที่ยืนยันว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นจะเข้ามาร่วมและใช้ความรุนแรงนั้น จะเห็นได้ว่าหลังจากนำตัวไปควบคุมที่บช.ปส. ถนนวิภาดีรังสิต มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามไปยิงพลุประทัดที่หน้าสโมสรตำรวจตำรวจ ฉะนั้นยืนยันได้ว่าในการชุมนุมมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วย เบื้องต้นดำเนินคดีผู้ชุมนุมจะนะ ตามความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเสี่ยงต่อความแพร่โรค และความผิดอื่น เช่น กีดขวางการจราจรตามความผิดพ.ร.บ.จราจรฯ เมื่อสอบปากคำแล้วเจ้าหน้าที่จะพิจารณาให้ประกันตัว ส่วนผู้ชุมนุมจะเข้ามาชุมนุมที่เดิมอีกคงต้องประชาสัมพันธ์ว่า หากทำผิดซ้ำจะส่งผลเรื่องขอการถอนประกันตัว หรือจัดหาสถานที่อื่นให้ชุมนุม ถ้าหากผิดกฎหมายตำรวจก็ต้องดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.เขต1 พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ โดยให้รายละเอียด เดินทางมายื่นข้อเสนอเพื่อไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ และความรู้สึกด้านลบต่อชาวบ้านในพื้นที่ เพราะกลุ่มชาวบ้านก็มาเรียกร้องตามสิทธิที่พึงมี แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะทางเจ้าหน้าที่ก็ยังดำเนินการเรื่องการสอบปากคำ และพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ชุมนุม กระบวนการของการดำเนินคดี