“ดร.กนก”ชี้ครูลาออกทนภาระงานเอกสารไม่ไหวสะท้อนระบบการศึกษาล้มเหลว

15 พ.ย. 2564 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2564 | 23:35 น.

“ดร.กนก”ชี้ครูโพสต์ใบลาออกทนภาระงานเอกสารไม่ไหว สะท้อนความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย ให้ความสำคัญงานวิชาการมากกว่าพัฒนาการเรียนการสอน แนะรื้อระบบแรงจูงใจ เพิ่มค่าตอบแทน ก่อนสมองไหล ไร้คนอยากเป็นแม่พิมพ์ของชาติ

 

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีครูสาวโรงเรียนแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพหนังสือลาออก พร้อมข้อความสรุป หมดความอดทนกับการทำเอกสารประเมิน ตั้งใจสอน แต่แพ้คนทำเอกสารปลอมว่า เป็นการฉายภาพความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ซึ่งตนเคยสะท้อนไปหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับภาระงานของครู ว่าเป็นกับดักอันตรายที่ฉุดคุณภาพการศึกษาไทย

 

เนื่องจากภาระครูในเรื่องเอกสารไม่เคยลดลง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ระบบกำหนดให้ต้องทำทั้งงานวัดผล งานวิชาการ งานธุรการ งานงบประมาณ ฯลฯ แทนที่จะให้เวลาครูได้ทำงาน ในเรื่องการพัฒนาการเรียน การสอน อาทิ งานหลักสูตร งานแนะแนว ถ้าไม่แก้ไขเรื่องเหล่านี้ จะมีครูดี ๆ อีกจำนวนมาก ที่ทนไม่ไหวกับระบบที่เป็นอยู่ จนต้องเดินจากอาชีพแม่พิมพ์ของชาติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากฝากเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพครู มีสามประการ คือ

 

1.ควรมีการรวบรวมข้อมูล “การขาดแคลนครู” ทั้งในสาระวิชาและโรงเรียน มาใช้บริหารบุคลากรทางการศึกษา ความพยายามทางนโยบายในลักษณะนี้จะสำเร็จได้ ต้องปฏิบัติเงื่อนไขสำคัญ คือ หนึ่ง ข้อมูลสถานภาพครู (ทั้งสาระวิชาและจำนวน) ต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถบอกได้ว่า บัญชีสถานภาพครูทั้งประเทศที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ศ.น.) ถืออยู่ในมือเป็นอย่างไร และการมีครูจริงในแต่ละโรงเรียนตรงกับบัญชีนั้นหรือไม่ เมื่อตรวจสอบข้อมูลจริงแล้ว จะเห็นว่าความเป็นจริงกับข้อมูลไม่ตรงกัน ตั้งแต่จำนวนครูไม่ตรงกัน การบรรจุครูสาระวิชาไม่ตรงกับตำแหน่งที่มี เป็นต้น

2. กระทรวงศึกษาธิการ ควรต้องรื้อ “ระบบแรงจูงใจ” และ “ค่าตอบแทน” ใหม่ เพื่อเก็บรักษาครูเก่ง ครูคุณภาพ ไว้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาสในที่ทุรกันดารให้นานที่สุด

 

และ 3. การร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผลิตครูที่สามารถส่งความรู้และทักษะให้นักเรียนได้ เป็นแนวความคิดที่ดี เพราะการผลิตครูในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เน้นสร้าง “นักบริหารการศึกษา” มากกว่าสร้าง “ครู” ที่จะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้ “คณะศึกษาศาสตร์” ตามมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะทางการศึกษา เช่น การบริการการศึกษา, การวัดประเมินผลการศึกษา, นโยบายการศึกษา เป็นต้น ส่วนหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนโดยตรงมีน้อยมาก

 

ดังนั้น ประเด็นการปฏิบัตินโยบายผลิตครูให้มีคุณภาพในการเรียนการสอน คุรุสภาไม่ควรทำหน้าที่เพียงการออกใบประกอบวิชาชีพครูเป็นหลัก แต่จะต้องเป็นสมองให้กับกระทรวง ที่จะศึกษาวิจัยและพัฒนาเนื้อหาสาระวิชาและวิธีการสอนของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น เพื่อนำไปปรับปรุงหลักสูตรผลิตครูให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม นอกจากนี้คุรุสภาควรต้องสนับสนุนกระทรวงในเรื่อง “การพัฒนาครูประจำการ” ด้วยการนำครูที่สอนอยู่แล้ว กลับมาพัฒนาเพิ่มเติมทั้งในด้านสาระวิชา และด้านวิธีการสอน โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อคือ

 

1. ลดการบรรยายในชั้นเรียน เพิ่มการคิดวิเคราะห์และการอธิบายในชั้นเรียน

 

2. ลดสาระวิชาที่ไม่จำเป็นของสพฐ. เพิ่มสาระวิชาจากบริบทชีวิตของนักเรียน

 

3. ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน

 

4. ลดการสอบตามเกณฑ์ เพิ่มการตรวจการบ้านนักเรียนของครู

 

และ 5. ลดคำสั่งหรือนโยบายสพฐ.ที่ครูต้องปฏิบัติ เพิ่มเวลาครูให้กับนักเรียน