รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงแบบครบวงจร

11 พ.ย. 2564 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2564 | 17:31 น.

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาราคาปุ๋ย ทั้งแบบเร่งและแผนระยะยาว กระทรวงเกษตรฯดันปุ๋ยสั่งตัด-อินทรีย์-ชีวภาพ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนระยะยาวได้จริง

วันที่ 11 พ.ย. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น และได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทั้งแบบเร่งและแผนระยะยาว โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ปุ๋ยช่วยเกษตรกร” มีปุ๋ยเคมีเข้าร่วมโครงการ 84 สูตร รวม4.5 ล้านกระสอบ มีการสั่งซื้อจากสถาบันเกษตรกรกว่า 2.2 ล้านกระสอบแล้ว

 

สำหรับแผนระยะยาว คือการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) เป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้มากและทำให้ต้นพืชแข็งแรง

 

 

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)” มาระยะหนึ่งแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือที่เกษตรกรเรียกว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยรัฐสนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย และเครื่องผสมปุ๋ย ผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด

 

ตอนนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯแสนกว่าราย คิดเป็นพื้นที่รวม 1.3 ล้านไร่ ใช้ปุ๋ยสั่งตัดจำนวน 6 แสนไร่ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 45 ลดต้นได้ร้อยละ 37 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท และกรมฯกำลังเสนอขอดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 299 ศูนย์ ใน 58 จังหวัด เกษตรกร 5.2 หมื่นราย ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 แสนไร่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

มากไปกว่านั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 - 2569 การดำเนินงานจะครอบคลุมการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยให้ถูกชนิดและถูกวิธี การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน การผสมปุ๋ยใช้เองให้ได้คุณภาพ เป็นต้น ตั้งเป้าปี 2565 ให้ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยฯ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยสั่งตัด 1.88 แสนตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 2.25 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 1.02 ล้านตัน และยอดรวมของแผน 5 ปี (2565-2569) จะผลิตปุ๋ยสั่งตัด 2.42 ล้านตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 16.32 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 14.19 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 44.01 ล้านไร่ ซึ่งผลลัพธ์คือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้มาก อีกทั้งลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ส่วนระยะยาวช่วยเพิ่มจำนวนเกษตรกรทีทำการเพาะปลูกในรูปแบบ “เกษตรปลอดภัย” ตามมาตฐานสากล GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ยังมีแนวทางอื่นๆทีรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโปแตชภายในประเทศ การแลกเปลี่ยนปุ๋ยไนโตรเจนและโปแตชกับประเทศมาเลเซีย การหาแหล่งแม่ปุ๋ยนำเข้าจากประเทศอื่นที่นอกเหนือจากที่เคยนำเข้าเดิม ทั้งนี้ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลการขับเคลื่อนงานดังกล่าว