“เพื่อไทย”แจงจุดยืน ไม่ได้แก้ ม.112 แค่ตัวกลางเลี่ยงปะทะนอกสภา

03 พ.ย. 2564 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 21:58 น.

“หมอชลน่าน” แจงจุดยืน เพื่อไทย ไม่ได้แก้ ม.112 แต่เป็นตัวกลางอาสานำปัญหาเข้ากลไกนิติบัญญัติ ป้องกันการปะทะทางความคิดนอกสภา

วันที่ 3 พ.ย. 2564 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงจุดยืนการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ว่า ในที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้จะหยิบมาพูดคุยกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประเด็นที่พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ไปในนามประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค พท. แต่เจตนารมณ์จริงกับที่นำเสนอในสื่อมวลชนค่อนข้างไม่ตรงกัน เพราะเจตนารมณ์ของพรรค พท. ที่ชัดเจน คือ ต้องการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกบังคับใช้กฎหมายและถูกริดรอนสิทธิเสรีรภาพ ถูกจับเป็นนักโทษทางความคิดเพียงเพราะเห็นต่างเท่านั้น ก็ใช้กฎหมายบังคับใช้ ถือเป็นการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเราเห็นสภาพปัญหาที่จะเป็นวิกฤตทางการเมือง เพราะมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องนี้

 

เนื่องจากมีผู้เรียกร้อง ผู้สนับสนุน และผู้ต่อต้าน ถ้าเราในฐานะพรรคการเมืองปล่อยไว้ทั้วงที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่ดึงปัญหามาแก้ไขในรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตย สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือการแก้ไขนอกสภาฯ เราไม่อยากให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้น จึงรีบอาสานำทุกเรื่องที่เป็นปัญหาเข้าสู่รัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาตามวิถีประชาธิปไตย

 

“เพื่อไทย”แจงจุดยืน ไม่ได้แก้ ม.112 แค่ตัวกลางเลี่ยงปะทะนอกสภา

 

 “เราไม่ได้มุ่งหมายว่าจะแก้อย่างไร หน้าที่เราคือรับเรื่องมากก่อน ส่วนจะแก้อย่างไรเป็นหน้าที่ของรัฐสภาตามประเด็นที่เสนอเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีสภาพการบังคับใช้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เริ่มต้นจากตำรวจ อัยการ ศาล เหล่านี้คือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแล้วแต่เขาเสนอเข้ามา โดยพรรค พท. ไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ จะกลับไปวงจรอุบาทว์เหมือนเดิม มีการปะทะทางความคิดที่แตกแยกกัน”
 
 

ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงมุมมองต่อการแก้ไขม. 112 ซึ่งดูเหมือนว่า พรรค พท. จะน้อมรับความเห็นดังกล่าว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราฟังความเห็นทุกฝ่ายทุกคน ส่วนจะนำเข้าสู่สภาฯในมุมไหนหรืออย่างไร มันก็เป็นตามไปสภาพนั้น ซึ่งเราต้องยอมรับความเห็นทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นตัวกลางในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นหน้าที่ ซึ่งจะปล่อยให้ไปสู้กันบนถนนไม่ได้ ส่วนจะเป็นไปตามความเห็นของผู้ใดก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่ใช้เสียงข้างมาก ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มิชอบ เราสามารภใช้กลไลรัฐสภาตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนนี้ได้ เช่น การตั้งกระทู้ถามสด และนำเข้าสู่กรรมาธิการเพื่อตรวจสอบ อาทิ ทำไมไม่ให้ประกันตัวว่า เพราะอะไร หรือเสนอเป็นญัตติด่วนก็ได้ โดยทำได้หลายมิติ