“ไพบูลย์”ส่อรอด! ไม่หลุดส.ส. คดียุบพรรคประชาชนปฏิรูป ซบ พปชร.

20 ต.ค. 2564 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 21:29 น.
1.5 k

ศาลรธน.ชี้ชะตา“ไพบูลย์ นิติตะวัน” บ่าย 3 วันนี้ คดียุบพรรคประชาชนปฏิรูป ซบ พปชร. จับตา “รอด” เหตุเพราะะพรป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 131 คุ้มครองยุบพรรคหลังผ่านพ้น 1 ปี ไม่ต้องคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (20 ต.ค.64) เวลา 15.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

 

จากกรณีที่ นายไพบูลย์ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องไว้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 โดยไม่ได้มีคำสั่งให้นายไพบูลย์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยที่จะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตัดสินของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในช่วงบ่ายวันนี้ มีแนวโน้มที่ “อาจจะ” วินิจฉัยให้ นายไพบูลย์ ไม่มีความผิด เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในมาตรา 130 ระบุไว้ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขตหรือบางหน่วยเลือกตั้ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ มิให้นําผลคะแนนของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เป็นเหตุดังกล่าวมาคํานวณเพื่อหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี และจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับ

 

ความในวรรคหนึ่งให้นํามาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้สมัครถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 133 ด้วยโดยอนุโลม

ขณะที่มาตรา 131 ระบุว่า ภายในหนึ่งปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยมิให้นําคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่มารวมคํานวณด้วย และให้นําวิธีการคํานวณตามมาตรา 129 และมาตรา 130 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

ภายในหนึ่งปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป หากปรากฏว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันถือว่าเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง และผู้นั้นไม่ได้รับการเลือกตั้ง หากมีการนําคะแนนที่ผู้สมัครผู้นั้นได้รับไปรวมคํานวณเพื่อจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัดไปแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณเพื่อหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองใหม่ โดยมิให้นําคะแนนที่ผู้สมัครดังกล่าวได้รับไปรวมคํานวณด้วย และให้นําความในมาตรา 129 วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตําแหน่งที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลาหนึ่งปี นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป มิให้มีผลกระทบกับการคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 128

 

ให้นําความในวรรคสามมาใช้บังคับแก่กรณีที่มีการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่างด้วยเหตุอื่นใด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความในวรรคสาม ของ มาตรา 131 ที่ระบุว่า “การเลือกตั้ง ส.ส.แทนตําแหน่งที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป มิให้มีผลกระทบกับการคํานวณ ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 128 ตรงจุดนี้ที่อาจทำให้ นายไพบูลย์ ไม่มีความผิด ไม่หลุดจาก ส.ส. เพราะการดำเนินการยุบพรรค และผ่านพ้นการเลือกตั้งมา 1 ปีแล้ว ไม่ก่อให้เกิดต้องมีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

 

ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการยุบพรรคว่า ตั้งแต่ต้นได้ดำเนินการตรวจสอบตามข้อกฎหมาย รวมถึงต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างละเอียดครบถ้วน รวมถึงดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 (7) ซึ่งมีวรรคท้ายเขียนไว้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง

 

“เมื่อยุบพรรคก็ไปเข้ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ตามที่ผู้ร้องยื่น เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ถูกสั่งยุบ แล้วตั้งพรรคก้าวไกลตรงนี้เป็นลักษณะเดียวกัน เพราะถ้าไม่สมัครสมาชิกพรรคอื่นภายใน 60 วัน ก็สิ้นสุดสมาชิกภาพ ซึ่งขอยืนยันว่าการไปสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นเรื่องถูกต้อง โดยต้องยื่นเรื่องผ่าน กกต. แล้วก็ทำหนังสือรับรองส่งไปให้สภาฯ ซึ่งสภาฯ ก็ประกาศเป็นสมาชิกเรียบร้อย ดังนั้นถือว่าครบถ้วนตามกระบวนการข้อกฎหมาย

 

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความแตกต่างระหว่างศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรค”กับการ “ยุบพรรคตัวเอง”ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 50 จะต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค แม้จะเลิกก็ต้องยุบและย้ายได้ แต่รัฐธรรมนูญปี60 ไม่ต้องไปศาล เพราะกฎหมายได้เติมวรรคท้ายเอาไว้ ซึ่งตรงนี้เป็นไปตามข้อกฎหมายและทั้งหมดก็อยู่ที่ศาลพิจารณาตามข้อกฎหมาย ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไร