กมธ.พลังงาน หนุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน-ดันหม้อแปลงจมน้ำ พลิกโฉมเที่ยวไทย

03 ต.ค. 2564 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2564 | 22:16 น.
850

กมธ.การพลังงาน หนุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน ปรับทัศนียภาพแหล่งท่องเที่ยวให้ดูงามตารับเปิดประเทศ ลดอุบัติภัยจากไฟฟ้า พร้อมแนะใช้หม้อแปลงไฟฟ้าจมน้ำนวัตกรรมใหม่ของไทย ป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน เหมาะติดตั้งในพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วม

 

รายงานข่าวเผยว่า คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพลังงาน  สภาผู้แทนราษฎรได้ลงพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลยได้เข้าร่วมสัมมนา ระบบไฟฟ้าลงดิน สร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้ประเทศ ทั้งนี้มีนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการ นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ เลขานุการคณะกรรมาธิการ และคณะฯ ดำเนินการจัดการสัมมนา “ระบบไฟฟ้าใต้ดินกับความปลอดภัยด้านอัคคีภัย และการประหยัดพลังแบบเสถึยรภาพ” โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เข้าร่วม และให้ข้อมูลในการสัมมนา

 

สำหรับระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบสายส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าไว้ใต้พื้นดิน โดยเดินร้อยท่อฝังดินในโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสายเคเบิล และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการนำส่งไฟฟ้าโดยเฉพาะ จึงมีความปลอดภัยต่อการใช้งานสูง อีกทั้งยังเพิ่มความสวยงามให้กับทัศนียภาพในชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบสายไฟฟ้าใต้ดินนั้นจะทำให้ระบบไฟฟ้าใต้ดินมีความปลอดภัยต่อสาธารณะและด้านอัคคีภัย รวมทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีเสถียรภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ

 

กมธ.พลังงาน หนุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน-ดันหม้อแปลงจมน้ำ พลิกโฉมเที่ยวไทย

 

 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติให้การไฟฟ้านครหลวงปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Vin) เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมทั้งได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ภายใน 5 ปีโดยเริ่มโครงการนำร่องกับเทศบาลเมืองและเทศบาล คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากนั้นจะทยอยเพิ่มเติมอีก 8 จังหวัด เพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เชื่อถือได้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม

 

จากความสำคัญดังกล่าว กมธ.การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบไฟฟ้าใต้ดินในเมืองหลวงและในแหล่งท่องเที่ยว จึงได้จัดการสัมมนา "ระบบไฟฟ้าใต้ดินกับความปลอดภัยด้านอัคคีภัยและการประหยัดพลังงานแบบเสถียรภาพ" ขึ้น เพื่อศึกษาข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ในการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาและปรับปรุงแผนการปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของประเทศไทยให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบันต่อไป

 

กมธ.พลังงาน หนุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน-ดันหม้อแปลงจมน้ำ พลิกโฉมเที่ยวไทย

 

ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้สร้างเคเบิลใต้ดินสำหรับเมืองใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้านำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ดำเนินการย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินบริเวณในเมืองใหญ่ ย่านธุรกิจ เมืองเก่า และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ  ซึ่งจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดแรก ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น น่าน เชียงใหม่ นครพนม ขอนแก่น หาดใหญ่ ภูเก็ต และพัทยา

 

กมธ.พลังงาน หนุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน-ดันหม้อแปลงจมน้ำ พลิกโฉมเที่ยวไทย

 

สำหรับอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอีกแห่ง ที่ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ทั้งชาวไทยและต่างชาติ หากนำสายไฟฟ้าลงดินจะเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างทัศนียภาพแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพิ่มความงดงาม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน

 

นายประจักษ์ กิติรัตนวิวัฒน์ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน กล่าวถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การนำระบบไฟฟ้าลงดินในปัจจุบันนี้ ว่า ในปัจจุบันการนำระบบสายไฟฟ้าลงดิน มีการพัฒนาไปมาก ที่ผ่านมานำระบบไฟฟ้าลงดินที่การไฟฟ้าดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังคงเหลือหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่คงอยู่เป็นดิน แต่เวลานี้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าได้สร้างนวัตกรรมของคนไทยขึ้นมาใหม่ ทำการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายชนิดจมน้ำ ( Submersible Type Distribution Transformer ) เพื่อใช้สำหรับการจำหน่ายไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าใต้ดิน

 

สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดจมน้ำเหมาะกับพื้นที่ที่มีจำกัดในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า  เช่น พื้นที่ทางเท้าที่แคบ พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม หรือพื้นที่ที่ต้องการทัศนียภาพสวยงาม ซึ่งการติดตั้งหม้อแปลงชนิดนี้สามารถทำงานในสภาวะจมน้ำ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถจมน้ำลึกถึง 3 เมตรเหนือระดับฝาถังหม้อแปลง และหม้อแปลงดังกล่าว ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยไว้แล้ว โดย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ที่เป็นผู้คิดคัน และผลิต

 

กมธ.พลังงาน หนุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน-ดันหม้อแปลงจมน้ำ พลิกโฉมเที่ยวไทย

 

“หม้อแปลงจมน้ำ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมไทยอีกอย่าง ที่เราควรส่งเสริมและสนับสนุน ต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สถานที่ท่องเที่ยว เมืองใหญ่ ๆ และหม้อแปลงชนิดจมน้ำนี้ ยังเหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากการติดตั้งหม้อแปลงจะอยู่ใต้ดิน สามารถควบคุมและป้องกันการเกิดอุบัติภัยได้ ทำให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงไปได้มาก นอกจากภูมิทัศน์จะดูดี หม้อแปลงดังกล่าวยังสร้างความยั่งยืนของพลังงานไทย สร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และสร้างทัศนียภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม” นายประจักษ์ กล่าว