มั่นใจ “สงขลาโมเดล” ยกระดับรายได้เกษตรกร

28 ก.ย. 2564 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 18:21 น.

ดร.กนก มั่นใจ “สงขลาโมเดล” ยกระดับ “รายได้” เกษตรกร ประคับประคอง “เศรษฐกิจฐานราก” แม้อยู่ในสถานการณ์โควิดระบาด

วันที่ 19 กันยายน 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม คนที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้เดินทางไปที่จังหวัดสงขลา เพื่อติดตาม “โครงการสงขลาโมเดล” ที่ อ.หาดใหญ่ อ.รัตภูมิ และ อ.สิงหนคร ในการนำวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม มาสร้างการเกษตรมูลค่าสูงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เสริมสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19

 

โดยในกลุ่มงานของโครงการสงขลาโมเดลนั้น สามารถแยกย่อยเป็น 7 แขนงในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีความเคลื่อนไหว  ดังนี้    
1. การทำปุ๋ยอินทรีย์ และสารปรับปรุงดินใช้เอง สำหรับการทำสวนยางพารา ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์ และนำไปทดลองให้เกษตรกรได้ประเมินคุณภาพของปุ๋ย และตัวเลขทางบัญชีด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบต่อแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ยในสวนยางพาราแบบเดิม

 

2. การบริหารจัดการสวนปาล์มอย่างมืออาชีพ ซึ่งตอนนี้ได้สมาชิกที่ดำเนินโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็นแปลงปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้ว และแปลงปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ ทางทีมของโครงการจะไปสร้างแปลงสาธิต จากแปลงของสมาชิกแต่ละท่าน ผ่านกระบวนการที่จะพากันทำอย่างใกล้ชิด 
 

3. การเกษตรแบบผสมผสานปลูกไม้ผลร่วมกับยาง โดยที่หลังจากได้สมาชิกกลุ่มต่างๆ แล้ว ก็เริ่มจัดอบรมหาแนวทางการแปรรูปผลไม้ และฝึกฝนทักษะต่างๆ นอกจากนั้นทางคณะทรัพยการธรรมชาติ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ ก็เปิดช่องทางการตลาดออนไลน์ให้แก่สมาชิกเข้าร่วม รวมทั้งมีการพากันไปเก็บตัวอย่างดิน เพื่อวิเคราะห์ปุ๋ยสำหรับไม้ผล และการหารือเรื่องการเลี้ยงชันโรงในสวน รวมไปถึงการขยายพันธุ์จำปาดะพันธุ์มังกรทอง 

 

4. การยกระดับคุณภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ แนวทางก็จะเป็นการบริหารจัดการด้านอาหาร โรงเรือน และการสุขาภิบาลอย่างเต็มระบบ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงโรงเรือนหลังการสำรวจ และศึกษาวัตถุดิบของอาหารเป็ดที่มีศัยภาพในพื้นที่

 

5. ต้นแบบการเพิ่มผลผลิตปลาดุก และการพัฒนาด้านการตลาด เบื้องต้นมีการวิเคราะห์ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกเรียบร้อยแล้ว และวางแนวทางแก้ไข อาทิ การทำอาหารต้นทุนต่ำเอง การตลาดออนไลน์ การแปรรูป การเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสม ฯลฯ

มั่นใจ “สงขลาโมเดล”  ยกระดับรายได้เกษตรกร

6. การพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อสู่ระบบของธุรกิจอย่างมีคุณภาพ ทั้งการปรับปรุงพันธุ์ การอบรมการผสมเทียม วางแผนการจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการแปรรูป และการนำวัตถุดิบจากพื้นที่ มาสร้างมูลค่า อาทิ การทำปุ๋ยจากมูลโค เป็นต้น

 

และ 7. ยกระดับการผลิตผักอินทรีย์ด้วยความแม่นยำ จากการนำมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ลงไปเติมให้กับเกษตรกร เพื่อลดต้นทุน และสร้างมูลค่า โดยเริ่มต้นแล้วจากการพาสมาชิกมาศึกษาแปลงผักต้นแบบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“นี่เป็นรายละเอียดเบื้องต้นของการทำงานในโครงการ “สงขลาโมเดล” ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งต้องถือว่า เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว แม้จะอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม กระนั้น ผมก็พยายามแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานต่อทีมงานอาจารย์อย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันหาทางหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดอันอาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงสนับสนุนการสร้างศักยภาพของการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันคำนึงถึงความอ่อนไหวในเรื่องของโควิด 19 ร่วมด้วย เพื่อตอบโจทย์ของสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงของโควิด 19 และการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ” ศ.ดร.กนก กล่าว