“วันชัย” ยัน ไม่ร่วมพรรคเล็ก ยื่นศาลตีความแก้รัฐธรรมนูญ

17 ก.ย. 2564 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 18:40 น.

“วันชัย” ยัน ไม่ร่วมพรรคเล็กยื่นศาล รธน.ตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ เป็นเรื่องได้-เสียเปรียบ ของพรรคการเมือง

วันที่ 17 กันยายน ที่รัฐสภานายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเล็กรวบรวมรายชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าตนเห็นว่าได้ขัดรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้ปรับแก้ไปมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเห็นด้วย ทั้งนี้ กระบวนการไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนวิธีคำนวณคะแนนคงต้องไปว่ากันในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือกฎหมายลูก

 

เมื่อถามว่าวิธีคำนวณเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 50 ที่รัฐธรรมนูญปี 54 แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ข้อความมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 54 ซึ่งวิธีการโดยละเอียดก็จะไปบัญญัติในกฎหมายลูก จากมาตรา 91 ก็จะเป็นการคำนวณแบบ MMM ไม่อาจตีความโดยการเขียนกฎหมายลูกให้คำนวณแบบ MMP ได้ ส่วนตัวสนับสนุนแบบ MMP และที่บอกว่ารัฐธรรมนูญมีคำว่า ส.ส.พึงมีอยู่นั้น เป็นส่วนที่เหลือจากรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งเป็นบัตรใบเดียวและอยู่หลังมาตรา 91 ดังนั้น คิดว่าไม่น่าจะได้ แต่ก็เป็นสิทธิที่ใครจะเข้าชื่อก็ได้

ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ตนไม่ร่วมยื่น เพราะเป็นเรื่องของพรรคการเมืองและนักการเมือง เป็นเรื่องได้เสียของนักการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับ ส.ว. ฉะนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปยุ่งในเรื่องนี้ แต่ก็เห็นว่าทำอะไรให้เกิดความชัดเจนก็ดี

“วันชัย” ยัน ไม่ร่วมพรรคเล็ก ยื่นศาลตีความแก้รัฐธรรมนูญ

นายวันชัยกล่าวว่า โดยหลักแล้ว นักการเมืองและพรรคการเมืองมีทั้งได้และเสียผลประโยชน์ บางพรรคได้ประโยชน์ แต่บางพรรคก็เสียผลประโยชน์ ฉะนั้น พรรคไหนที่รู้สึกว่าเสียประโยชน์ก็อาจจะต้องดิ้นรน แต่พรรคไหนที่รู้สึกว่าได้ประโยชน์ก็จะเฉยๆ แต่บางพรรคก็ 50-50 บางทีก็ต้องไปดูกฎหมายลูก เพราะกฎหมายลูกก็อาจจะเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

 เมื่อถามถึงกรณีที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายวันชัยกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสอยู่แล้ว แต่ตนไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีจะทำหรือไม่ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีประเด็น หรือปัญหา หรือเพื่อความชัดเจนก็อาจจะทำได้