มติรัฐสภา 374 ต่อ 60 ตีตกญัตติ”ก้าวไกล”ขอตีความข้อบังคับแก้รธน.

24 ส.ค. 2564 | 18:24 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 01:38 น.

มติรัฐสภา 374 ต่อ 60 ตีตกญัตติ”ก้าวไกล”ที่ขอให้วินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ของกรรมาธิการต่อการแก้ไขรธน.บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 24 ส.ค.2564 ได้พิจารณาญัตติ ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ซึ่งเสนอโดย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ  ต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... แก้ไขมาตราา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใช้อำนาจแก้ไขเนื้อหาเกินหลักการที่รัฐสภาลงมติในวาระแรกนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติ

 

เห็นด้วย 60 เสียง

 

ไม่เห็นด้วย 374 เสียง

 

งดออกเสียง 193 เสียง

 

ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

 

จำนวนผู้แสดงตนทั้งหมด 631 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีการลงมติ ในช่วงท้ายของการอภิปรายมีความเข้มข้น เพราะเกิดประเด็นใหม่ ว่า ญัตติที่เสนอนั้น จะลงมติหรือพิจารณาได้หรือไม่ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถูกปรับแก้ไขแล้ว และมีผู้เสนอให้ถอนญัตติ เพราะห่วงว่าจะถูกนำไปใช้เพื่อตีความต่อการแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต และมองว่าญัตตินั้นไม่สมบูรณ์

 

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของกมธ.​ที่เสนอนั้น ได้ปรับแก้ไขตามมติของกมธ.แล้ว ทั้งนี้การวินิจฉัยของรัฐสภาต้องพิจารณาให้ดี เพราะตนกังวลว่าอาจจะมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เขียนจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน10 มาตรา นำไปตีความอย่างกว้างได้   ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐสภาไม่ควรให้รัฐสภาตีความดังกล่าว เพื่อไม่ให้นำการตีความไปใช้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่น

 

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า จะมีการลงมติในญัตติ เพราะรัฐสภายังไม่ได้รับเนื้อหาที่กมธ.ปรับแก้ไข ทั้งนี้ฝ่ายกฎหมายรัฐสภา มองว่าการเสนอญัตตินั้นสามารถรับไว้พิจารณาได้ ทั้งนี้เป็นไปตามเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามา

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีประเด็นเรื่องของความรู้สึกว่าพรรคใหญ่เอาเปรียบ แต่เรื่องดังกล่าวต้องลงมติ ว่า การทำงานของกมธ.นั้นชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ ทั้งนี้ในวันหน้าหากพบการเสนอแก้กฎหมายใดก็ตามที่ขัดต่อข้อบังคับรัฐสภา สามารถเสนอตีความได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อถกเถียงเรื่องการลงมติในญัตตินั้น ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปเพื่อลงมติได้

 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. แก้รัฐธรมนูญ เสนอว่า ขออนุญาตประธานรัฐสภา แจกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่กมธ.ทบทวน และให้สมาชิกรัฐสภาศึกษาก่อนกลับมาลงมติในญัตติวันที่ 25 สิงหาคม

 

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว

 

จากนั้น นายธีรัจชัย อภิปรายปิดญัตติ ว่า ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญลุกลี้ลุกลน และผิดข้อบังคับ ดังนั้นตนขอเสนอให้ กมธ.นัดประชุมใหม่ เพื่อทำให้ถูกต้อง จะถอนหรือจะทำอะไร ทั้งนี้การนัดประชุมเมื่อเวลา 09.20 น. ของวันที่ 24 สิงหาคม ด้วยการส่งข้อความเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

 

ทั้งนี้ นายชวน สรุปว่า ตนขอปรับการถามญัตติ เพราะอาจถูกมองว่าไปกล่าวหากมธ.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบได้ ดังนั้นจะปรับคำถามว่าจะเห็นด้วยกับญัตติหรือไม่ เพื่อจบด้วยดี จากนั้นได้เรียกให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ

 

การพิจารณาญัตตินี้ได้ใช้เวลาพิจารณานานร่วม 4 ชั่วโมง