ภท.ประกาศจุดยืน งดใช้เสียง–งดออกเสียง ร่างแก้ไขรธน.ระบบเลือกตั้ง

24 ส.ค. 2564 | 15:06 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2564 | 22:17 น.

ภูมิใจไทย ประกาศจุดยืน “งดใช้เสียง – งดออกเสียง” ร่างแก้ไขรธน.ระบบเลือกตั้ง ทั้งวาระ 2–3 อ้าง ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ขอโยนประชาชนตัดสินกติกา

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยตัวแทน ส.ส. ของพรรค แถลงถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้ (24 ส.ค.) ที่ประชุมรัฐสภามีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (มาตรา 83 และ 91) ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตราในวาระที่ 2 หลังจากคณะกมธ.พิจารณาเสร็จแล้วว่า แนวทางของพรรคภูมิใจไทย ยึดหลักการ และจุดยืน เหมือนเดิมตั้งแต่ต้น โดยยืนยันเจตนารมณ์การแก้ไขที่เราสนับสนุนให้แก้ไขได้ เราเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเป็นเรื่องเก่า และร่างฉบับนั้นไม่สามารถเดินหน้าสำเร็จได้ 
 

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย

จากนั้น มีการเสนอให้แก้ไขอีกครั้ง ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา โดยพรรคภูมิใจไทยเสนอประเด็นเดียวเกี่ยวกับหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าของประชาชน แต่ไม่ได้รับเสียงรับรองทำให้ร่างตกไป มีเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านวาระแรก เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง การเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ และจำนวน ส.ส. แบ่งเบต 400 คน แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีมติว่า จะดำเนินการ 2 งด คือ งดออกเสียง และงดใช้เสียง

“งดใช้เสียง คือวันนี้การอภิปรายวาระที่ 2 สมาชิกพรรคภูมิใจไทยจะไม่ลุกขึ้นใช้เวลาของสภาเพื่ออภิปราย ส่วนขั้นตอนการลงมติทุกมาตรา เราจะงดออกเสียงทุกมาตรา เหตุผลคือเรายืนยันตั้งแต่แรกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก แต่การแก้ไขครั้งนี้เกี่ยวกับนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์โดยตรง พวกเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือแก้ไขได้หรือไม่ได้ แต่ควรให้ประชนชนเลือกว่าควรใช้กติกาในการเลือกผู้แทนแบบใด จึงเป็นที่มาของการงดออกเสียงทั้งในวาระ 2 และ 3” โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าว