เปิด "ร่างรธน." ชงแก้-ยุบ 7 มาตรา กาบัตรเลือกตั้ง 2ใบ

15 ส.ค. 2564 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2564 | 17:25 น.
728

เปิด "ร่างรธน.ฉบับกมธ." ชุดไพบูลย์ เป็นประธาน ชงแก้-ยุบ 7 มาตรา เคาะส.ส.ขต 400 ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน กาบัตรสองใบ แบ่งเขตเลือกตั้งตามจำนวนประชากร ขีดเส้นประกาศผลภายในหนึ่งเดือน


 ความคืบหน้าการประชุมของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา91) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. นั้น ล่าสุด คณะกมธ.ได้ทำงานเสร็จสิ้น และส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา พิจารณาในวาระสองและวาระสามต่อไป

 

 ทางคณะกมธ. ได้แก้ไข 2 มาตรา ตามที่ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบในวาระที่หนึ่ง คือ มาตรา 83 ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละหนึ่งใบ

 

มาตรา มาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

 

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เปิด \"ร่างรธน.\"  ชงแก้-ยุบ 7 มาตรา กาบัตรเลือกตั้ง 2ใบ

นอกจากนี้ คณะกมธ. ยังได้มีการแก้ไขและยกเลิกมาตราอื่นๆ ด้วย ดังนี้ มาตรา 85 กมธ.แก้ไขกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนที่ไม่เลือกใคร (โหวตโน) เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

 

มาตรา 86 ว่าด้วยการคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้ (1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวนส.ส. 400 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อส.ส. 1 คน

 

(2) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อส.ส. 1 คน ตาม (1) ให้มีส.ส.ในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคนโดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (3) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนให้มีส.ส.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน

 

(4) เมื่อได้จำนวนสมาชิกส.ส.ของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้วถ้าจำนวนส.ส.ยังไม่ครบ 400 คน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุดให้จังหวัดนั้นมีส.ส.เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มส.ส.ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบ 400 คน (5) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งส.ส.ได้เกิน 1คนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนส.ส.ที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
 

มาตรา92 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนโหวตโน ให้จัดเลือกตั้งใหม่ โดยให้กกต.ดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น

 

ทั้งนี้ กมธ. ให้ยกเลิกมาตรา 94 หากมีการเลือกตั้งซ่อมหลัง 1 ปีนับจากเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีผลกระทบกับการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และยกเลิก วรรคสาม มาตรา 105 การคำนวณสัดส่วนคะแนนของพรรคการเมืองสำหรับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้เป็นไปตามมาตรา 94

 

ขณะเดียวกัน ทางคณะกมธ. ยังเพิ่มบทเฉพาะกาลด้วยว่า ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา 132 เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 120วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

 

ในกรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้แล้วเสร็จ และต้องมีการเลือกตั้งส.ส. ให้กกต. มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งส.ส. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้งนั้นไปพลางก่อน