ม็อบ 7 สิงหาฯ เปิด 3 ข้อเรียกร้อง กสม. หวังทุกฝ่าย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน

07 ส.ค. 2564 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2564 | 18:48 น.
791

ม็อบ 7 สิงหาฯ เคลื่อนพลไปพระบรมมหาราชวัง เปิดข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ขณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เตรียมลงพื้นที่ สังเกตการณ์การชุมนุมหวังทุกฝ่ายยึดหลักสิทธิมนุษยชน ขอเป็นกลาง ฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย

7 สิงหาคม 2564 - จากกรณีวันนี้  เพจเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH กลุ่มผู้ชุมนุม "ราษฎร"  ประกาศนัดหมาย การชุมนุมครั้งใหญ่ 7 สิงหาฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเคลื่อนพลไป พระบรมมหาราชวัง  เวลา 14.00 น. หวังกดดันรัฐบาล และแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองในประเด็นต่างๆนั้น

 

โดยความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมล่าสุด พบว่า เพจเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH  มีการโพสต์ข้อมูลอีกครั้ง  ยืนยันการนัดหมาย เวลา 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมย้ำ 3 ข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่

1. ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข

2.ปรับลดงบประมาณที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน - กองทัพสู้โควิด

3.เร่งรัดการนำเข้าวัคซีนโควิด แบบ mRNA 

 

ขณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ระบุว่า ตามที่เครือข่ายกลุ่มราษฎร และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ กสม. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564  เพื่อขอให้ กสม.ลงพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุมในวันนี้  กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในระยะหลัง มีข้อน่าห่วงกังวลทั้งในด้านความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเสี่ยงในด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 

 

กสม.จึงมีมติมอบหมาย นางปรีดา คงแป้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์  และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในวันดังกล่าว เพื่อติดตามเฝ้าระวังว่า เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชนได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ผู้ชุมนุมได้ดำเนินการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ และปฏิบัติการของรัฐในการควบคุมฝูงชนเป็นไปตามหลักสากล หลักความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือไม่ อย่างไร 

 

ทั้งนี้ กสม.ขอยืนยันในบทบาทหน้าที่การสังเกตการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นกลาง เป็นธรรม และรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย