ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจ"กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ"

01 ส.ค. 2564 | 19:58 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2564 | 03:13 น.
6.1 k

ซูเปอรโพล สำรวจความคิดเห็นเรื่อง กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ พร้อมชำแหละปัจจัยวิกฤตศรัทธาด้านการเมือง,ระบบราชการ,สังคมและปัญหาปากท้องในพื้นที่แดงเข้ม พร้อมย้ำความหวังของประชาชนอยู่ที่"บิ๊กตู่"ต้องเด็ดขาดกล้าปฏิรูประบบราชการแบบแรงๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)ร่วมกับ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ”กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) จำนวน 1,142 ตัวอย่าง และดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24 – 31 กรกฎาคม 2564 


สำหรับผลการสำรวจพบว่า ปัจจัยวิกฤตศรัทธาด้านการเมืองและระบบราชการในพื้นที่แดงเข้มกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใน 3 อันดับแรกได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 ระบุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันดับรองลงมาได้แก่ ร้อยละ 90.4 ระบุ ฝ่ายการเมืองมุ่งถอนทุนคืน ไม่ยอมทำงานช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤต และอันดับสามได้แก่ ร้อยละ 89.1 ระบุ ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอในการควบคุมโรคและช่วยเหลือประชาชน


ที่น่าเป็นห่วงคือ เหตุปัจจัยวิกฤตด้านสังคมและปัญหาปากท้องของประชาชนในพื้นที่แดงเข้มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุ ไม่มีการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นต่อความเป็นความตายของประชาชน เช่น ชุดตรวจโควิด ชุดยาสมุนไพรและยาปัจจุบัน ราคาอาหาร และร้อยละ93.3 เท่ากันระบุ ปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถูกทอดทิ้ง ไม่มีระบบการช่วยเหลือที่ดีเพียงพอ จึงเกิดวิกฤตความเป็นความตายของประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่ ร้อยละ89.7 ระบุ เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐ หน่วยงานราชการยาก เมื่อเข้าถึงได้ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ


ที่น่าพิจารณาคือ การปฏิรูปบริหารจัดการระบบราชการ แก้เหตุปัจจัยที่ล้มเหลวในการช่วยเหลือประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ระบุหัวหน้าส่วนราชการต้องลงพื้นที่เข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชน แก้ปัญหาให้ได้เห็นผลทันทีลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ร้อยละ 92.7 ระบุ ปฏิรูปให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานใกล้ชิด เข้าถึงประชาชน แก้ปัญหาด้วยความรวดเร็วฉับไว มากกว่า กินเงินภาษีของประชาชนไปวัน ๆ ร้อยละ 91.5 ระบุ ให้ออกจากราชการหรือออกจากตำแหน่งที่ไม่สามารถช่วยประชาชนได้

 

ในขณะที่ ร้อยละ 88.9 ระบุ ต้องการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ใหม่ โดยเร็ว และร้อยละ 83.3 ยังมีความหวังต่อรัฐบาลจะปฏิรูปราชการไม่เป็นรัฐราชการที่เชื่องช้าและคอร์รัปชัน
 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.7 เห็นด้วยกับมาตรการการกักตัวที่บ้าน(Home Isolation) และการกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation) ในขณะที่ร้อยละ 22.3 ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการควบคุมยากในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในครอบครัวและชุมชน และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 ระบุไม่มีความพร้อมรับมาตรการการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation) เพราะ ขาดความช่วยเหลือเตรียมการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 22.7 ระบุ มีความพร้อม

ผลสำรวจ"กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนมี 2 ส่วนคือ ผลจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และผลจากปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องปากท้องซึ่งหากระบบราชการทำงานช่วยเหลือประชาชนได้ดีจะช่วยแก้วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ได้ 


แต่ข้อมูลที่พบในเวลานี้คือ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นทุกข์ หวาดกลัวการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และมีภาระค่าใช้จ่ายสินค้าจำเป็นต่อการรักษาตัวเองและการกินการอยู่ โดยพบว่า ราคาชุดตรวจโควิด (Rapid Test) ด้วยตนเอง ตั้งต้นที่นำเข้าอยู่ที่ 50 ถึง 60 บาทต่อชิ้น แต่ราคาในท้องตลาดพุ่งสูงถึง 300 – 400 บาท และราคาชุดยาจำเป็นต่อการรักษาด้วยตนเองก็เพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐกลับไปเห็นความสำคัญของประโยชน์ที่ผู้ผลิตและผู้ขายมากกว่า ความเป็นความตายของประชาชน


“ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษาพบด้วยว่า หัวหน้าส่วนราชการ ต้องมีความสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประชาชนกำลังเรียกร้องให้มีการปรับย้ายหรือให้พ้นตำแหน่ง ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่โดยเร็ว” 
 

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่าผลสำรวจนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ภาคประชาชนตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงของวิกฤตโควิด-19 จนถึงจุดที่ทุกคนต้องดูแลเองทั้งครอบครัวและชุมชน

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาสำคัญ คือ การเร่งเตรียมความพร้อมของครอบครัวและชุมชนในการเตรียมบ้านให้สามารถรองรับ ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียง ผู้ป่วยที่ถูกส่งกลับมายังภูมิลำเนา และชุมชนที่สามารถแยกกักตัวได้ให้ปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ป่วยและสมาชิกในชุมชนและในครอบครัว


"เสาหลักของชาติที่เป็นหน่วยงานรัฐและส่วนราชการ จึงน่าจะเร่งรีบรักษาจุดแข็งของภาคประชาชนคนไทย “คนละไม้ คนละมือ” ด้วยจิตอาสาแบบ คนไทยไม่ทิ้งกัน ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน หน่วยงานรัฐและส่วนราชการจึงจำเป็นต้องรีบเข้ามาเสริมกองทัพประชาชนในด้านต่างๆเช่น การขนส่งอย่างปลอดภัย การกระจายชุดยาและชุดอาหารประจำวัน

 

โดยเฉพาะสมุนไพรไทยที่หลากหลาย นอกจาก ฟ้าทะลายโจรที่กำลังขาดแคลน เพราะยังมีสมุนไพรไทยตัวอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณในการรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยของประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เช่นกันและช่วยเรื่องปากท้องพี่น้องเกษตรกรไปพร้อมกัน

 

ในขณะที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ย่านอุตสาหกรรมโรงงานต่าง ๆ ส่วนราชการน่าจะใช้มาตรการเข้มในการรักษาและควบคุมโรคคู่กับช่วยเรื่องปากท้องเช่นกันให้อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมโรงงานหรือเปิดพื้นที่พิเศษของส่วนราชการช่วยเหลือประชาชน เช่น พื้นที่ของกองทัพ(Army Land) พื้นที่ราชพัสดุที่โล่งและแยกตัวจากชุมชนแทนการส่งกลับภูมิลำเนา

 

“สุดท้ายในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ความหวังของประชาชนอยู่ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีที่ต้องเด็ดขาดในความเป็นผู้นำ(Leadership) ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของใครกล้าปฏิรูปและขับเคลื่อนระบบราชการแบบแรง ๆ ยึดครองใจประชาชนนำพาประเทศผ่านวิกฤตไปได้โดยจะดูจากการปรับย้ายข้าราชการปลายปีนี้”