ประธานอนุฯกมธ.ครุภัณฑ์ ยันไม่มีธงนำซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3

27 ก.ค. 2564 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2564 | 20:57 น.

ประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ส.ส. ยันไม่มีธงนำซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 รับไม่สบายใจแบ่งฝ่ายให้ข้อมูลไม่ถูกต้องต่อสังคม โยนบาปหาแพะ ด้าน “ยุทธพงศ์”ขู่ทร.ไม่เอาสัญญาเรือดำน้ำจีทูจีมาแจงกมธ.ก็ไม่อนุมัติ

วันที่ 27 ก.ค. 2564 ที่รัฐสภา นายสรวุฒิ เนื่องจํานงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์และไอซีที กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์และไอซีที เรียกร้องให้กองทัพเรือนำสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำมาเปิดเผยในที่ประชุมในวันนี้ว่า สัญญาการซื้อเรือดำน้ำและเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีที่ผ่านการดำเนินการของกองทัพเรือและบริษัทซีเอสโอซีน หากวันนี้กองทัพเรือไม่นำสัญญาจัดซื้อมาชี้แจงต่ออนุ กมธ.ก็จะต้องมีการหารือร่วมกันในคณะต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

"ส่วนตัวมองว่า ไม่มีธงนำว่าจะต้องเดินหน้าพิจารณาต่อไป เพราะมองว่าสังคมต้องการชี้นิ้วไปที่ใครสักคน เพื่อให้เป็นแพะรับบาป ผมไม่สบายใจกรณีมีการแบ่งฝ่ายให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อสังคม" 

นายสรวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณางบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธของตำรวจ หรือรถหุ้มเกราะของตำรวจตระเวนชายแดนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และดูแลพื้นที่ชายแดน เพื่อกำจัดมิจฉาชีพในสังคมที่หาประโยชน์จากประชาชน ดังนั้น ต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสม ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีการกันงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้ต่างหากแล้ว ในส่วนของตนพร้อมรับฟังสังคม แต่ไม่ได้อ่อนไหวไปตามกระแส สำหรับการพิจารณางบฯคณะครุภัณฑ์และไอซีทีภาพรวมพอใจ โดยปรับลดงบประมาณราว 4,000 ล้านบาท

 

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  กล่าวยืนยันว่ากองทัพเรือจำเป็นจะต้องนำสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่หนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี รวมถึงกรณีจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก อีก 1,674 ล้านบาท มาให้กรรมาธิการดู มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอนุมัติงบประมาณได้ เช่นเดียวกับการจัดซื้อโดรน จำนวน 3 ลำ มูลค่าราคา 4,100 ล้านบาทนั้น กองทัพเรือก็ต้องชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นอย่างละเอียดเช่นเดียวกัน

ประธานอนุฯกมธ.ครุภัณฑ์ ยันไม่มีธงนำซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3

นอกจากนี้ ส่วนตัวอยากชวนสื่อมวลชนจับตาในส่วนงบกองทัพเรือ ที่เหมือนมีความไม่ชอบมาพากล พร้อมยกตัวอย่าง โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำและอาคารสนับสนุน ระยะที่หนึ่ง บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ บริษัท CSOC เป็นผู้ชนะในการเสนอราคาก่อสร้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยใช้งบประมาณ 857 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขุดลอก ทำเขื่อน 833 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพิเศษ 24 ล้านบาท ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ที่รัฐบาลจีนจะมารับจ้างขุดคลองให้รัฐบาลไทย เพราะประเทศไทย มีศักยภาพที่จะดำเนินการเรื่องนี้เองได้

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ส่วนตัวทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอคติกับกองทัพเรือ ลุยตรวจสอบทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง โดยไม่มีการเกรงใจหน่วยใดเป็นพิเศษ พิจารณาทุกอย่างด้วยเหตุและผล