ท้า"โทนี "ทักษิณ ชินวัตร แน่จริงกลับมารับโทษแบบเท่ๆ คุกรอ 10 ปี

17 ก.ค. 2564 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2564 | 18:12 น.

"ศรีสุวรรณ" ท้า"โทนี " ทักษิณ ชินวัตร ถ้าแน่จริงกลับมารับโทษในเมืองไทย แบบเท่ๆ แจงมี3คดีที่ยังไม่หมดอายุความ คือ คดีหวยบนดิน-คดีปล่อยเงินกู้เอ็กซิมแบงค์ให้เมียนม่า -คดีแก้ไขสัมปทานโทรศัพท์มือถือเอื้อชินคอร์ปฯ กรมราชทัณฑ์เตรียมกวาดคุกไว้รอ10 ปี

วันที่ 17 ก.ค.2564  นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์ถึงกรณีที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย เปิดแคมเปญล่าชื่อ 1 แสนรายชื่อ เพื่อนำนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศเพื่อแก้วิกฤตโควิด ใจความว่า

 

“โทนี เมื่อกลับไทยมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ราชทัณฑ์เขาเตรียมกวาดคุกรอ ดังนี้

-คดีหวยบนดิน/ทุจริตออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว จำคุก 2 ปี
-คดีปล่อยเงินกู้เอ็กซิมแบงค์ให้เมียนม่า จำคุก 3 ปี
-คดีแก้ไขสัมปทานโทรศัพท์มือถือเอื้อชินคอร์ปฯ จำคุก 5 ปี

รวมทั้งสิ้น 10 ปี

แต่ดีใจด้วยที่คดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำคุก 2 ปี หมดอายุความไปแล้ว เพราะหนีคดีไปเกิน 10 ปีแล้ว ส่วนคดีแผนฟื้นฟูทีพีไอมิชอบ และคดีปล่อยเงินกู้ให้ธ.กรุงไทยให้เครือกฤษดานคร ศาลท่านยกฟ้องให้แล้ว

 

แต่ยังเหลือคดีจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินอันเป็นเท็จ คดียังไม่ถึงที่สุดเพียงแต่ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว รอให้ท่านกลับมาสู้คดีครับ

 

ถ้าแน่จริงกลับมารับโทษแบบเท่ห์ๆก่อนครับ …

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564   Tony Woodsome หรือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมสนทนาในรายการ CARE ClubHouse x CARE Talk ตอน “โทนี่สอนน้อง” พังพินาศกันไปใหญ่ เจ็บได้แต่ไม่จบ ล็อกดาวน์ไปทำไม ถ้าไม่ตรวจเชิงรุก

ในการสนทนาช่วงหนึ่ง มีคำถามอีกว่า “พี่โทนี่” จะกลับมาเมื่อไหร่ ทุกคนคิดถึงมาก

นายโทนี่ กล่าวตอบว่า กลับแน่ แต่เมื่อไหร่ค่อยบอก

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา  นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ  ระบุถึงกรณีการนำอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร กลับไทย โดยในทางกฎหมายจะมีวิธีอยู่ 5 วิธี ซึ่งขอสงวนเป็นความลับไว้ก่อน แต่เบื้องต้นจะทำการรวบรวมรายชื่อประชาชน จำนวน 1 แสนชื่อเพื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดยประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภาได้