เวทีเสวนาACTชี้พิรุธ 5 สัญญา 5 บริษัท ประมูลรถไฟรางคู่สายเหนือ – อีสาน

09 ก.ค. 2564 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 19:53 น.

ACT จัดเสวนาออนไลน์ รวมพลคนต้านคอร์รัปชัน ชี้ข้อพิรุธ 5 สัญญา 5 บริษัท ประมูลรถไฟรางคู่ สายเหนือ - อีสาน 1.28 แสนล้านบาท ฉาวสุดในรอบ 10 ปีของการรถไฟ แนะรัฐบาล หากสังคมคลางแคลงใจ ยังไม่เปิดเผย ไม่ทำอะไรตรงไปมา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มีการโกง"

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ  ACT เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ประเด็นร้อน การประมูลรถไฟรางคู่ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ เมื่อวันพฤหสบดีที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี ดร.สุเมธ องกิตติคุณ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ , ดร.ประจักษ์ ทรัพย์มณี ผู้สังเกตการณ์โครงการรถไฟรางคู่ และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กร์ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมเสวนา

ดร.สุเมธ องกิตติคุณ

 

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ถ้าดูจากข้อมูลที่เผยแพร่โครงการรถไฟรางคู่สายเหนือ - อีสาน นี้ต้องตอบคำถามสังคมหลายประเด็นทั้งเรื่องการประมูลและรายละเอียดของการประมูล เรื่องไม่โปร่งใสนั้นต้องมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีความไม่โปร่งใส แต่ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร น่าจะมีข้อข้องใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม

 

"ข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบกันคือราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางเพียงแค่เล็กน้อยทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา หลายคนพูดถึงข้อมูลว่าการแข่งขันด้านราคาการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความโปร่งใส การแข่งขันด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของการรถไฟในอดีตการประมูลรางคู่สายใต้ มีการแข่งขันที่สูงกว่านี้แล้วราคาที่ได้คือถูกลงพอสมควร แต่พอมาเจอรางคู่สายเหนือกับสายอีสานซึ่งราคาถูกลงเพียงเล็กน้อยหลายคนก็เลยตั้งคำถาม"
ผู้อำนวยการวิจัย TDRI กล่าว 

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค

รศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนดให้โครงการของรัฐทุกโครงการต้องเปิดเผยข้อมูล ต้องรวมถึงข้อมูลที่ประชาชนต้องการทราบไม่ใช่ข้อมูลที่รัฐอยากให้รู้หรือตอบก็ตอบไม่ตรง

 

"ความสำคัญของการประมูลคือให้ความเป็นธรรม การที่มีสัญญา 5 โครงการและมีบริษัทเข้าประมูล 5 รายพอดี คำตอบคือให้เข้ามาแล้วแต่ไม่มีใครเข้า เขาไม่มายื่นเองจะทำอย่างไร มี 5 งานยื่น 5 รายแล้วไม่มีใครได้ซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ที่จะชนะ 5 รายไม่เหมือนกัน การประมูลต้องให้มีการแข่งขัน ที่ประเทศไทยไม่ให้ต่างชาติเข้ามาก็เพราะผู้รับเหมาเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล"

 

"การที่นักประมูลชอบมากที่สุดคือการล็อคผู้เข้าแข่งขัน ล็อคกันจนเหลือ 2 รายก็มี สมัยก่อน 2 รายนั้นเป็นญาติพี่น้องกัน ที่อยู่เดียวกันเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน แต่ปัจจุบันที่เรียกว่าฮั้วประมูลไม่มีใครเขาทำแล้ว การให้มีคนเข้าแข่งขันเยอะๆเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรบริหารโครงการเราก็รู้ว่าถ้าปล่อยให้เข้ามาเสรีเป็นร้อยๆรายไม่ได้ ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์พอ ถ้าเรายังปล่อยให้มีแค่ 5-6 บริษัท อีกกี่ปีก็ไม่เกิดความเจริญในบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย การประมูลที่ไม่ยุติธรรมทำให้คนรุ่นใหม่ ตั้งใจดีมีวิชาความรู้ มีเทคนิค มีสมองไม่ได้เกิด" 

ดร.ประจักษ์ ทรัพย์มณี

 

ในขณะที่ ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้สังเกตการณ์ต้องตอบว่าโปร่งใสภายใต้กรอบนโยบายที่ทางกระทรวงจัดทำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำ แต่การกำหนดกรอบมีปัญหาทำให้เกิดการตัดไม่ให้มีผู้เข้าร่วมประมูลรายย่อยเข้ามาได้

 

"คณะผู้สังเกตการณ์ได้แจ้งว่าไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลที่ รฟท.เปลี่ยนกติกาการประมูล คือยกเลิกกติกาที่ทางซูเปอร์บอร์ดของการจัดซื้อจัดจ้างทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 ว่าให้แยกงานออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กขนาดกลางเข้าร่วมได้ แต่ TORนี้ไปรวบงานโยธา ระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วยกันทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางหรือแม้แต่รายใหญ่ก็เข้าร่วมไม่ได้ต้องเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีอยู่เพียง 5 รายเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยถูกผูกขาดอยู่เพียง 5-6 บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นเอง อย่างที่ 2 คือที่กระทรวงกำหนดเลยว่า Thai First เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้ภายในประเทศต้องให้บริษัทไทยเท่านั้นเข้าประมูล เราไม่เห็นด้วย กับการกีดกันบริษัทต่างชาติเข้ามาทำให้ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน TOR รวบระบบราง ทำให้มีผู้ประมูลเพียง 5 สัญญา"

 

ดร.ประจักษ์ กล่าวและว่าการกำหนดราคากลางส่วนใหญ่ในโครงการรัฐจะสำรวจเส้นทางและโหวตราคาเพิ่มกำหนดงบประมาณให้สูง โดยไม่มีใครไปดูว่าตรงตามสัญญาที่ระบุหรือไม่ เช่น ระบุว่าบริเวณนี้มีสะพานแต่ถ้าไปดู กลับไม่มีแม่น้ำ เมื่อปฏิบัติจริงๆแล้วเงินจะเหลือ โดยหลักก็คือจะต้องคืนรัฐบาล แต่วิธีการคือมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง เช่น บอกว่าประชาชนร้องขอให้ทำสะพาน ทำถนนลอด บางโครงการใช้เงิน 400 ล้านบาทก็มี แค่ทำแบบมาขออนุมัติจากรถไฟ สามารถก่อสร้างได้เลย ปัญหาคือมันคุ้มค่าหรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่

 

  ดร.มานะ นิมิตรมงคล

 

ด้าน ดร.มานะ กล่าวว่า โครงการนี้ดูเหมือนจะโปร่งใสแต่อยู่ภายใต้กรอบของนักการเมือง กรอบกระทรวงคมนาคม แล้วหน่วยงานต้องปฏิบัติ เมื่อการรถไฟทำก็บอกว่าเป็นไปตามกรอบกระทรวง โปร่งใส ถูกต้อง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโครงการนี้เป็นโครงการที่อื้อฉาวและถูกตั้งคำถามมากที่สุดของการรถไฟ ทำไมสังคมจึงตั้งคำถามมาก กติกาในการประมูล ข้อมูลที่ให้สังคมรับรู้เกิดอะไรขึ้น

 

"การที่รัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะทำให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชัน ทำให้การปลอดคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็น การจัดซื้อจัดจ้าง ให้สิทธิสัมปทาน ต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรม เดือนที่แล้วยังเห็นรัฐบาลถอดร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หลังจากที่ภาคประชาชนชี้ว่าไม่ถูกต้องหลายๆอย่างและขัดต่อการปฏิรูปประเทศที่วางแผนไว้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญมาตรา 144 และ 185 นี่เป็นการหยุดการคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหากยังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมคลางแคลงใจ คนข้องใจว่ายังไม่เปิดเผย ไม่ทำอะไรตรงไปมา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มีการโกง"

 

"โครงการใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่แค่คนไทยเห็น ต่างชาติก็เห็น ถ้าคอร์รัปชันขนาดใหญ่ เสียงประชาชนทักท้วงกันมากมาย สื่อมวลชนทักท้วง นักวิชาการทักท้วงใครๆก็พูดแล้วยังปล่อยเลยตามเลยให้ออกไปได้ มันจะทำให้ต่างชาติหรือนักลงทุนใหญ่เขาตั้งข้อสงสัยว่ามีประเทศไทยมีมาตรฐานการลงทุนอย่างไร ถ้าเข้ามาจะเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสตรงไปตรงมาได้อย่างไร

 

สิ่งที่ตามมาคือเสียภาพลักษณ์ของประเทศ เมื่อจัดอันดับประเทศที่คอร์รัปชันระดับโลกแล้วอันดับตกก็อย่าไปร้องแรกแหกกระเชอเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐกระทำ เราไม่อยากให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาล