ซักฟอกรัฐบาล ถล่มแก้“โควิด-19”เหลว ไม่ปล่อยบริหารต่อ 

07 ก.ค. 2564 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 21:42 น.

 “เพื่อไทย”เคาะยื่น “ซักฟอกรัฐบาล” ส.ค.นี้ เพื่ออภิปรายก่อนปิดสมัยประชุมสภา 18 ก.ย. ล็อกเป้าถล่มแก้ “โควิด-19” ล้มเหลว มีปัญหาบริหารวัคซีน ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ไม่ปล่อยให้บริหารประเทศต่อไป 

นายประเสิรฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า แกนนำพรรคเห็นตรงกันที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ในเดือนสิงหาคมนี้ 

 

ทั้งนี้คาดว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายน  2564 โดยจะประสานงานกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เบื้องต้นได้แจ้งแต่ละพรรคทราบแล้ว และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ 

 

“ไม่ต้องการปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไป เกรงจะเกิดความเสียหายมากขึ้น” 

 

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านเคยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาลไปแล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องโควิดและวัคซีนที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

 

สำหรับการลงมติที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านยังเป็นรองเรื่องเสียงในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ครั้งนี้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งเศรษฐกิจและมีผู้เสียชีวิต เชื่อว่าหากสภาฯ ได้ฟังเหตุผลการอภิปราย สภาฯ จะเห็นด้วย

                            ซักฟอกรัฐบาล
 

+พลิกรธน.มาตรา 151

 

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 151 บัญญัติไว้ว่า…

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อย 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (98 คน จาก 487 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล หรือ ทั้งคณะ 
เมื่อได้มีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือ การลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรค 4

 

เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจ หรือ ไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทําในวันเดียวกับ วันที่การอภิปรายสิ้นสุดลง

 

มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (244 คน จาก 487 คน)

 

รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตําแหน่งเดิม แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตําแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง หรือ พ้นจากตําแหน่งเดิมไม่เกินเก้าสิบวันก่อนวันที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตําแหน่งอื่น ให้รัฐมนตรีคนนั้น ยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อไป

+ย้อนศึกซักฟอกรัฐบาล

 

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เคยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเป็นการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 9 คน รวม 10 คน และมีการอภิปราย 4 วัน 4 คืน  16-19 ก.พ. และ ลงมติในวันที่ 20 ก.พ.2564 

 

สำหรับ 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย

 

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

 

6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 8.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม  9.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย  และ 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ 

 

+ผลซักฟอก 10 รมต.

 

ขณะที่ผลการลงคะแนนในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 244 เสียง จากส.ส. 487 เสียง ผลเป็นดังนี้

 

1.พล.อ.ประยุทธ์ มีผู้ลงมติ 481 คน ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง 

 

2.พล.อ.ประวิตร ผู้ลงมติ 482 เสียง ไว้วางใจ 274 เสียง ไม่ไว้วางใจ 204 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง  

 

3.นายอนุทิน ผู้ลงมติ 482 เสียง ไว้วางใจ 275 เสียง ไม่ไว้วางใจ 201 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

 

4.นายจุรินทร์ จำนวนผู้ลงมติ  482 เสียง ไว้วางใจ 268 เสียง ไม่ไว้วางใจ 207 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง 

 

5.พล.อ.อนุพงษ์ ผู้ลงมติ 480 เสียง ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

 

6.นายณัฏฐพล ผู้ลงมติ 480 เสียง ไว้วางใจ 258 เสียง ไม่ไว้วางใจ 215 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง 

 

7.นายสุชาติ ผู้ลงมติ  481 เสียง ไว้วางใจ 263 เสียง ไม่ไว้วางใจ  212 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง

 

8.นายศักดิ์สยาม ผู้ลงมติ  482 เสียงไว้วางใจ 268 เสียง ไม่ไว้วางใจ  201 เสียง  งดออกเสียง12 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

 

9.นายนิพนธ์ ผู้ลงมติ 482 เสียง ไว้วางใจ  272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

 

10.ร.อ.ธรรมนัส ผู้ลงมติ 479 เสียง ไว้วางใจ 274 เสียง ไม่ไว้วางใจ 199 เสียง งดออกเสียง  5 เสียง  ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ เป้าหลักของ “ฝ่ายค้าน” ก็ยังพุ่งไปที่เรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอก 3 ของรัฐบาล ที่ยอดผู้ติดเชื้อ และ เสียชีวิต ยังสูงเป็นรายวัน 

 

คนที่จะหลีกเลี่ยงการถูก “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ไปไม่ได้เลยคือ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ และ หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล 

 

ส่วนรัฐมนตรีคนใดจะเจอ “แจ็คพอต” อีกบ้างในรอบนี้ ต้องรอฝ่ายค้านตกผลึกและคงได้เปิดเผยรายชื่อออกมาอีกครั้ง...  

 

รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3694 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.2564