สองมาตรฐาน พรรคการเมือง ‘ภูมิใจไทย’ กับ ‘พลังประชารัฐ’

24 ก.พ. 2564 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2564 | 11:37 น.
1.2 k

การ "งดออกเสียง" ของส.ส.ในเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมติพรรค กำลังเป็นที่จับตาว่า จะเกิด "สองมาตรฐาน" ระหว่าง "พรรคภูมิใจไทย" กับ "พรรคพลังประชารัฐ" หรือไม่

ควันหลงจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ที่ผลการโหวตลงมติเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 ก่อให้เกิดปัญหาความไม่พอใจระหว่าง พรรคภูมิใจไทย กับ พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อผลการลงมติในส่วนของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนไว้วางใจเพียง 268 เสียง ไม่ไว้วางใจ 201 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากจำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด 275 เสียง

ขณะที่ นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงว่า การที่ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ใช้สิทธิงดออกเสียงในการลงคะแนน ญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลกับรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า ตลอดการอภิปราย และการชี้แจง 4 วัน (16-19 ก.พ.) ที่ผ่านมา ไม่พบคำชี้แจงที่ ชัดเจนเพียงพอ ในการตอบคำอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน และทำให้สังคมตั้งข้อกังขา

ข้อสงสัยในสองประเด็นหลักที่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน คือ เรื่องการเปลี่ยนเงื่อนไข (TOR) และการล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และข้ออภิปรายเรื่องการไม่ปกป้อง หรือเรียกคืนที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์

ทั้งสองประเด็นที่ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจน เป็นสองประเด็นที่สองรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของ รมว.คมนาคม โดยตรง คือ รฟท.และ รฟม.

นางสาววทันยา ระบุว่า ส.ส.ในกลุ่มดาวฤกษ์ ได้พยายามอย่างที่สุดในการปฏิบัติตามมติพรรค ด้วยการไม่ลงคะแนนไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องปฏิบัติตามจิตวิญญาณความเป็น ส.ส. ด้วยการ งดอออกเสียง ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการลงมติครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ส.ส.ในกลุ่มทั้งหมด พร้อมน้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนอย่างดีที่สุดแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 7 ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค จากการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีระยะเวลาในการพิจารณา 15 วัน เมื่อได้ข้อสรุป จะเสนอกรรมการบริหารพรรคต่อไป

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 6 ส.ส.พลังประชารัฐ ที่งดออกเสียงให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำพรรคภูมิใจไทย มองว่าพลังประชารัฐกลับคุมส.ส. ของตัวเองไม่ได้ และมีการยกคำว่า “มารยาททางการเมือง” ขึ้นมาพูดถึง โดยทางพรรคภูมิใจไทย ได้แสดงท่าทีความไม่พอใจส่งไปยังพรรคพลังประชารัฐ ให้จัดการกับกลุ่มส.ส. ดังกล่าว 

 

สองมาตรฐาน  พรรคการเมือง ‘ภูมิใจไทย’ กับ ‘พลังประชารัฐ’

 

แถม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ต่างพากันออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโจมตี “กลุ่มดาวฤกษ์” โดย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ ถึงกับร่ายกลอนยาวเหยียด

ส่วน นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี โพสว่า “ดวงดาวก็ยังมีวันร่วงหล่นขออยู่เป็นตัวแทนประชาชนไม่มุ่งเน้นเอาตัวเป็นใหญ่หวังเอาประโยชน์ตน”

ด้าน นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส. สตูล โพสว่า “ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวยนะ พี่ดาว(เคาะ) #ลูกพี่ใครใครก็รัก”

และ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง โพสต์ในทำนองเดียวกัน พร้อมข้อความ “ฝากไว้ก่อนนะ เดี๋ยวรู้เรื่อง”

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผลการโหวต “ไม่ไว้วางใจ” ในปี 2564 นี้ ทำให้หวนนึกถึงเมื่อครั้งมีการโหวตแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมระหว่างส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562

 

ในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพลังประชารัฐ ได้รับ การเสนอชื่อให้เป็น “นายกฯ”

มีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุม 747 คน ผลการโหวตลงมติ ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนน 500 เสียง เกินกึ่งหนึ่งจากสมาชิกทั้ง 2 สภา ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็นนายกฯ

โดยในส่วนของ พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 51 เสียง ต่างเทเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมด มีเพียง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ กลับ “งดออกเสียง” อันเป็นการ “สวนทาง” กับมติของภูมิใจไทย  

ภายหลังการลงคะแนนในวันดังกล่าว ได้เห็นภาพ นายสิริพงศ์ ถึงกับหลั่งนํ้าตากลางห้องประชุม ซึ่งก็ทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจ ถึงกับอึ้งไปเลย

โดยนายสิริพงศ์ อ้างว่า ได้รับปากกับประชาชนในพื้นที่ว่าจะเลือก นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกฯ เพียงคนเดียว  ผิดจากนี้เป็นใครตนก็เลือกไม่ได้

สำหรับกรณีที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “งูเห่า” ของพรรคนั้น นายสิริพงศ์ ตอบว่า แล้วแต่คนจะคิด แต่เรารู้อยู่ว่าทำเพราะอะไร ทำเพื่ออะไร และทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะตนไม่มีความจำเป็นต้องไปรับเงินใคร

ภายหลัง นายสิริพงศ์ แหกมติพรรค ทางพรรคภูมิใจไทย ก็ทำท่าทีขึงขังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเพื่อจะเอาผิดกับ นายสิริพงศ์ โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2562 นายศักดิ์สยาม ออกมาแถลงข่าวเองว่า หากมี ความผิดจะมีโทษตั้งแต่ ว่ากล่าว ตักเตือน ภาคทัณฑ์ และขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภายใน 1 สัปดาห์จะทราบความชัดเจนเกี่ยวกับผลการสอบสวน

แต่หลังจากนั้น ก็ไม่รู้ว่า พรรคภูมิใจไทย มีการลงโทษอะไรกับ นายสิรพงศ์ หรือไม่?

 

เห็นแต่ว่า ปัจจุบัน นายสิริพงศ์ ก็ยังอยู่ดีมีสุขกับ พรรคภูมิใจไทย แถม “ตบรางวัล” มีตำแหน่งเป็น ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

อีกกรณีเป็นวีรกรรม ของ 2 พี่น้องตระกูล “ปริศนานันทกุล” ที่โหวตสวนมติวิปรัฐบาล

ในการประชุมลงมติขอปิดอภิปรายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 ซึ่งฝ่ายค้าน ได้ประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม และไม่ได้ร่วมลงมติในครั้งนั้น ทำให้ ผลการลงมติให้ปิดอภิปรายมี จำนวน 251 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง

เสียงที่ไม่ลงคะแนนคือ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และ นายภราดร ปริศนานันทกุล จากพรรคภูมิใจไทย อันเป็นการไม่ทำตามมติวิปรัฐบาล

หลังการลงมติดังกล่าวพรรคภูมิใจไทย ได้ตักเตือน ส.ส. ที่ฝืนมติวิปรัฐบาลให้ปฏิบัติตาม แต่การลงมติ ถือเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส.

จากเหตุการณ์ ส.ส.ภูมิใจไทย “งดออกเสียง” ในการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ และ 2 ส.ส.ภูมิใจไทย ตระกูล “ปริศนานันทกุล” ฝ่าฝืนมติวิปรัฐบาล 

ล่วงมาถึงศึกซักฟอก 2564 กรณี “กลุ่มดาวฤกษ์” และอีก 1 ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ “งดออกเสียง” ให้กับ นายศักดิ์สยาม จนภูมิใจไทย “บี้” มายังพลังประชารัฐ ให้ลงโทษกับกลุ่มที่งดออกเสียงดังกล่าว

น่าจับตาว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “สองมาตรฐาน” ระหว่าง “ภูมิใจไทย” กับ “พลังประชารัฐ” หรือไม่??? 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,656 หน้า 12 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ 2564