เปิดเบื้องหลัง ป.ป.ช. ฟัน 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

23 มิ.ย. 2564 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2564 | 12:11 น.

เปิดเบื้องหลัง ป.ป.ช. ฟัน 4 ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 หน้า 10 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กรณี “4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน” ในการลงมติร่างพ.ร.บ. งบประมาณ 2563 และร่างพ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 และ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลเมื่อวันที่  8 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา

ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างป.ป.ช.ดำเนินการจัดส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง และกรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ป.ป.ช.จะฟ้องศาลฎีกานักการเมืองโดยตรงเอง  4 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูล แต่ละคนมีพฤติการณ์อย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

เริ่มจาก ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย

นายฉลอง ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า วันที่ 10 ม.ค.63 เวลา 19.30 น. ออกจากรัฐสภาไปสนามบินดอนเมือง รอบเวลาบิน 20.50 น. เพื่อไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 11 ม.ค.ไปร่วมงานศพญาติ และ เป็นประธานจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ตามกำหนดนัดล่วงหน้า เข้าใจโดยสุจริตว่าการประชุมอย่างช้าจะเสร็จสิ้นใน วันที่ 10 ม.ค. และ หลงลืมบัตรลงคะแนนไว้ที่รัฐสภาและกลับกทม.ในช่วงบ่ายวันที่ 13 ม.ค.

เปิดเบื้องหลัง ป.ป.ช. ฟัน 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

ป.ป.ช.พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายฉลอง ชี้แจงรับว่า วันที่ 10 ม.ค.63 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาฯ โดยเวลา 19.30 น. ออกจากรัฐสภาเดินทางไปสนามบินดอนเมือง และเวลาที่แน่ชัดตาม พยานหลักฐานคือ เวลารอบบินเที่ยว 20.50-22.15 น. จึงฟังว่า นายฉลอง ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. เวลา 20.50น. ถึงวันที่ 11 ม.ค.3 เวลา 17.41 น. อันเป็นเวลาเลิกประชุม และกลับกทม.ช่วงบ่ายวันที่ 13 ม.ค.  โดยเวลาที่ไม่อยู่ในห้องประชุม นายฉลอง อยู่ที่สนามบินดอนเมือง สนามบินหาดใหญ่ และ จ.พัทลุง รับฟังไม่ได้ว่า ลืมบัตรลงคะแนนไว้ในช่องเสียบบัตรเพราะรีบมางานศพญาติ และร่วมงานวันเด็กแห่งชาติในพื้นที่

รายที่ 2 นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

นางนาที ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า มีการนัดประชุมวันที่ 8-9 ม.ค.63 เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ แต่ก่อนมีหนังสือนัดประชุม มีนัดหมายล่วงหน้าเดินทางไปประเทศจีน ช่วงวันที่ 11-15 ม.ค.63 ได้ลงชื่อเข้าประชุมตั้งแต่ 8 ม.ค.63 และทราบว่าจะขยายเวลาประชุมไปถึงวันที่ 10 ม.ค. 63 ในช่วงก่อนเที่ยงน่าจะเสร็จ

เข้าใจโดยสุจริตว่าจะเสร็จการประชุมไม่เกินวันที่ 10 ม.ค.63 จึงไม่ยกเลิกกำหนดการไปต่างประเทศ แต่ต่อมา 11 ม.ค.63 ในช่วงการประชุมสภาฯ ได้แสดงตนในตรวจสอบองค์ประชุมและลงมติจนถึงมาตรา 42 ในเวลา 13.42 น.

และเร่งรีบเดินทางจากรัฐสภาไปสนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางไปประเทศจีน แต่อารมณ์เร่งรีบ เร่งร้อนจึงไม่ได้นำบัตรลงคะแนนไปด้วย หลงลืมไว้ที่ลงคะแนน ไม่ได้ฝากบัตรลงคะแนนไว้ให้ส.ส.คนอื่นลงมติแทน และไม่ทราบได้ว่ามีส.ส.คนใดลงมติแทน

ป.ป.ช.พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำชี้แจงสอดรับกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนว่า นางนาที ไม่อยู่ในที่ประชุมตั้งแต่ วันที่ 11 ม.ค.63 ส่วนเวลาที่นางนาที อ้างว่าออกจากรัฐสภาหลังมติมาตรา 42 ไปแล้วนั้น วันและเวลาที่นางนาที ไม่อยู่ในที่ประชุม แต่พบว่าแสดงตนลงมติในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ วาระ 2 และ 3 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางนาที ไม่อยู่ในห้องประชุม แต่กลับมีการลงมติในบางมาตรานั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบ

ส่วนรายที่ 3 นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย

นายภูมิศิษฏ์ ชี้แจงแก้ข้อหาว่า  ทราบล่วงหน้า 7 วันว่าจะมีประชุมสภาฯ วันที่ 8-9 ม.ค.63 จึงวางกำหนดการในพื้นที่ล่วงหน้า เพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าการประชุมจะเสร็จสิ้นอย่างช้าในวันที่ 10 ม.ค.63 และจองตั๋วล่วงหน้าไว้แล้ว และช่วงที่มาประชุมทราบว่าอาจขยายเวลาไปถึง 10 ม.ค.ก่อนเวลา12.00น. การประชุมน่าจะเสร็จสิ้น 10 ม.ค. ไปสนามบินดอนเมือง รอบเวลาบิน 20.50น. เพื่อไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยจองเที่ยวบินสุดท้าย

แต่กังวลใจว่าจะกลับพื้นที่ไปงานวันเด็กแห่งชาติหรือไม่ เพราะยังมีการประชุมสภาฯ ต่อเนื่อง และรับข่าวว่า ประธานสภาฯ จะเลื่อนประชุมเพื่อให้ส.ส.ลงพื้นที่ไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ ตนจึงเดินทางออกจากรัฐสภาในช่วงค่ำวันที่ 10 ม.ค. และเมื่อเข้าถึงที่พัก ทราบข่าวว่า ประธานสภาฯ ไม่เลื่อนการประชุม ทำให้ไม่สบายใจ จึงตัดสินใจไม่ไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ

เวลา 05.00 น.วันที่ 11 ม.ค. ออกจากที่พักไปขึ้นเครื่องบินเที่ยวเช้าสุดที่สนามบินหาดใหญ่ เตรียมกลับกทม. แต่ได้เที่ยวบิน 09.25 น. เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง รีบเดินทางไปร่วมประชุมที่รัฐสภา

วันที่ 10 ม.ค. หลงลืมบัตรลงคะแนนไว้ในช่องเสียบบัตรลงคะแนนใดไม่แน่ชัด และการประชุมใช้เวลายาวนาน ทำให้พักผ่อนน้อยประกอบกับอาการป่วยซึ่งไม่รู้มาก่อนและไม่ได้ตรวจ แต่รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่ช่วงต้นปี 63 และมีอาการมาตลอด จึงไปรักษาตัวที่รพ.พัทลุง ในช่วงวันที่ 2-10 พ.ค.63 พบว่า เป็นโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท หอบหืด และรักษาตัวต่อเนื่องที่รพ.กรุงเทพ โดยการวินิจฉัยโรควันที่ 4 มิ.ย.63 ระบุว่า เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดสมองตีบ (อาการทางสมอง อาจเกิดอาการหลงลืมได้) หอบหืด

ป.ป.ช.พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายภูมิศิษฏ์ ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาฯ ตั้งแต่ วันที่ 10 ม.ค. เวลา 20.50 น. จนถึงเวลา 12.00น. วันที่ 11 ม.ค. เวลา ไปอยู่ที่สนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง รับฟังไม่ได้ว่าลืมบัตรลงคะแนนไว้ในช่องเสียบบัตร ส่วนอาการป่วยนั้นเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุ 5 เดือนจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้

คนสุดท้าย น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณี ร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 โดยน.ส.ธนิกานต์ ปฏิเสธข้อกล่าวหา อ้างว่าป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานว่าฝากบัตรไว้กับส.ส.คนอื่น ไม่เคยยินยอมให้มีการลงคะแนนแทนกัน เหตุที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่เหนือการควบคุมของตน เช่น ตอนนั้นระบบลงคะแนนของห้องประชุมจันทรา (ห้องประชุมของส.ว.) มีปัญหาและช่องลงคะแนนมีไม่พอจนส.ส.หลายคนแจ้งประธานในที่ประชุมว่าคะแนนที่ออกมาไม่ใช่คะแนนที่ส.ส.คนนั้นลงมติ และ ร่างก.ม.ฉบับนี้ มีความสำคัญเพราะสมควรที่จะให้มีเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 เห็นได้จากคะแนนที่ลงมติร่างก.ม.ฉบับนี้เป็นเอกฉันท์ จึงไม่มีมูลเหตุใดๆ ในการทุจริตออกเสียงแทนกัน

ป.ป.ช.พิเคราะห์แล้วเห็นว่า วันที่ 8 ส.ค.62 มีการประชุมสภาฯ โดยส.ส.พลังประชารัฐคนนี้ลงชื่อร่วมประชุม แม้ ส.ส.บางคนบอกว่าคะแนนของตนไม่ตรงตามที่ลงมติ แต่มีการยืนยันให้บันทึกการลงมติด้วยวาจาให้แก้มติ เหตุนี้เป็นข้อขัดข้องทางเทคนิคของคนใช้บัตรลงคะแนน ไม่เกี่ยวกับคนที่ไม่อยู่ในห้องประชุม

แต่ส.ส.คนนี้มีชื่อลงมติสอดรับคำให้การเจ้าหน้าที่รัฐสภา ยันยืนระบบลงคะแนนไม่มีปัญหาในช่วงการประชุม ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาจึงเลื่อนลอย เลือกต่อสู้เฉพาะช่วงที่ตนไม่อยู่ในห้องประชุม เพราะก่อนและหลังการลงมติร่างก.ม.ฉบับนี้ มีลงมติร่างก.ม.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ผู้ถูกกล่าวหามีชื่ออยู่ในการลงมติและไม่ยกมา กล่าวอ้างว่าเป็นข้อผิดพลาดของอุปกรณ์ ... จึงเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาฝากบัตรให้เพื่อนสมาชิกลงคะแนนแทนกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: