ฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขรธน.หวังปิดสวิตซ์ ส.ว.เลือกนายกฯ

16 มิ.ย. 2564 | 13:59 น.

ฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ หวังปิดสวิตซ์ ส.ว. เลือกนายกฯ ขณะที่ "พิธา" ยันฝ่ายค้านยังมีเอกภาพ แม้จะเห็นต่างเรื่องระบบเลือกตั้ง

วันที่ 16 มิ.ย.2564 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยแบ่งเป็น ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 1 ร่างที่เห็นตรงกันทุกพรรคคือ ร่างแก้ไขมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนอีก 4 ร่าง จะเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย ร่างแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ / ร่างแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ 
 

กรณีกรรมาธิการห้ามเรียกองค์กรอิสระ หรือศาลมาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ / ร่างแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2550 / และร่างยกเลิกอำนาจ คสช. ตามมาตรา 279 // แต่มีสมาชิกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาร่วมลงชื่อด้วย ยกเว้นพรรคก้าวไกล

สำหรับมาตรา 256 แม้สภาเคยตีตกไปแล้ว แต่นายประเสริฐ จันทรรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกว่า ยังสามารถเสนอเข้าสภาได้ใหม่อีกครั้ง เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งก็จะสอดรับกับสภาที่กำลังจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงที่พรรคลงชื่อเพียงร่างเดียว ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า พรรคเห็นว่า ส.ว.ชุดนี้เป็นอุปสรรค แต่สำหรับประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ยังไม่ตกผลึกว่าระบบเลือกตั้งใดจะดีที่สุด และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด และพรรคก้าวไกล ก็ได้ผลักดันการปิดสวิตช์ ส.ว.มาโดยตลอด นอกจากนี้ ยืนยันว่า ฝ่ายค้านยังมีเอกภาพในการทำงาน แม้จะมี ส.ส.ออกพรรคออกมาแสดงความคิดเห็นขัดแย้งเรื่องระบบเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยยื่นร่างไปก็ตาม แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นต่าง แต่จะต้องมีการพูดคุยและถกเถียงเพื่อให้ตกผลึก
ฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขรธน.หวังปิดสวิตซ์ ส.ว.เลือกนายกฯ

ขณะที่ นายชวน ยืนยันว่า ได้กำหนดวาระการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแล้ว ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายนนี้ โดยในวันที่ 22 มิถุนายน ที่ประชุมรัฐสภา จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก่อน จากนั้นในวันที่ 23 มิถุนายน จะเริ่มการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่งหากไม่แล้วเสร็จ ในวันเดียว ก็จะขยายระยะเวลาการพิจารณาไปในวันที่ 24 มิถุนายน โดยจะยังคงเข้มงวดมาตรการป้องกันโควิด เนื่องจากการประชุมร่วมรัฐสภา จะมี ส.ว. มาร่วมประชุมด้วยอีก 250 คน ก็ขอย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกคน