ก้าวไกล เท ‘เพื่อไทย’ เมินร่วมลงชื่อแก้ ม.256

16 มิ.ย. 2564 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2564 | 11:32 น.

“ชวน” นัดประชุมรัฐสภา 22-24 มิ.ย.นี้ ถกพ.ร.บ. ประชามติ-แก้รัฐธรรมนูญ “ก้าวไกล” เท “เพื่อไทย” ไม่ร่วมลงชื่อแก้ ม.256 มุ่งเป้า “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไม่ให้ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ยํ้าทุกคะแนนเสียงต้องถูกนับ 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เคย “ล่ม” มาแล้วครั้งหนึ่ง จะมีการเดินหน้าพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งในสมัยประชุมสภานี้ โดยกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย. 2564  

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณากฎหมายที่ค้างวาระ ทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ยาเสพติด จะกำหนดประชุม 3 วัน ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย.นี้ โดยในวันที่ 22 มิ.ย. กำหนดให้พิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในวาระการประชุม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติและ พ.ร.บ.ยาเสพติด 

จากนั้นในวันที่ 23 มิ.ย.จะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำเรื่องนี้มาไว้ช่วงหลังการประชุม เพราะเผื่อเวลาให้แต่ละฝ่ายเตรียมความพร้อมและตรวจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องให้เสียเวลา อีกทั้งหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ก็ยังสามารถพิจารณาในวันที่ 24 มิ.ย.ต่อได้

นายชวน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลพยายามเสนอญัตติการแก้รัฐธรรมนูญก่อนว่า ประธานจะเป็นผู้จัดวาระการประชุม และเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัว ก็จะเอาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไว้ทีหลัง และยืนยันว่ากฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ 

“เมื่อได้ข้อสรุปในการหารืออย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งการพิจารณากฎหมายพ.ร.บ.ประชามติต้องพิจารณาอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะเตะถ่วงได้ ไม่เช่นนั้นกฎหมายอื่นก็จะเข้ามาพิจารณาไม่ได้หากยังมีกฎหมายค้างอยู่” 

ประธานสภาฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลเสนอเลื่อนเร็วขึ้นมาเพียงวันเดียว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เอาไว้ให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมดีกว่า ซึ่งได้รับทราบมาว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในวันที่  16 มิ.ย. รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และยังมีภาคประชาชน ที่ประสานยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย หากยื่นทันก็จะสามารถบรรจุระเบียบวาระในการประชุมคราวเดียวกันได้

 

“ก้าวไกล”เท“เพื่อไทย”

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคว่า ที่ประชุมของพรรคเห็นชอบให้มีการปิดสวิตซ์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีทั้ง 250 คน โดยจะลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ส.ส. ของพรรค มีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการจำกัด อำนาจของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 

โดยพรรคก้าวไกลยืนยันมาโดย ตลอดว่า การถูกตีกรอบ เหมือนเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และไม่เคารพต่อเสียงของประชาชน ซึ่งพรรคก้าวไกล เชื่อมั่นว่า เสียงที่มาจากประชาชน มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด

 

เสียงปชช.ต้องไม่ตกนํ้า

ส่วนเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกล เห็นว่า หากจะแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้ดีที่สุด รวมถึงต้องส่งเสริมความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง สร้างประสิทธิภาพให้รัฐสภา

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี รวมถึงระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยต้องปรับปรุง เราเห็นว่าระบบที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นเลือก ส.ส.แบ่งเขต 1 ใบ และเลือกพรรคการเมือง 1 ใบ เสียงประชาชนต้องไม่ตกนํ้า และเสียงของประชาชนทุกคนต้องถูกนับ

“พรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่า ทางออกจากวิกฤติิรัฐธรรมนูญใน ปัจจุบัน ไม่ใช่การเข้าร่วมแก้ไข รัฐธรรมนูญตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งการปิดสวิตซ์ ส.ว. ตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี” นายพิธา ระบุ

 

ก้าวไกล เท ‘เพื่อไทย’ เมินร่วมลงชื่อแก้ ม.256

 

 

เชื่อร่างฝ่ายค้านไปไม่รอด

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นระบบเลือกตั้งที่กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่า เป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ รับได้ไม่ว่าจะเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือ 2 ใบ แต่มีเพียงพรรคก้าวไกล ที่ไม่กล้าเสนอระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 บัตร จึงสงสัยว่าเป็นเพราะกังวลว่าพรรคตัวเองจะสูญพันธุ์หรือไม่ 

นายไพบูลย์ มั่นใจว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐจะผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการในวันที่ 23 และ 24 มิ.ย.นี้ เพราะมีเสียงของพรรคพลังประชารัฐ 122 ส.ส. หรือรวมพรรคประชาธิปัตย์อีก 50 เสียง และเสียง ส.ว.อีก 250 เสียง รวมแล้วมากกว่า 400 เสียง และหากเพื่อไทย เห็นด้วยก็เกิน 500 เสียง ซึ่งจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ต้องผ่านความเห็นชอบ และต้องให้ ส.ว. เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 

ส.ส.ส่วนประเด็นการแก้ไข ม.272 ของพรรคเพื่อไทย นายไพบูลย์ เชื่อว่าจะหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ครบตามจำนวนหลักเกณฑ์วาระรับหลักการที่กฎหมายกำหนดไว้ คือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ และ วุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่ยกมือให้

 

เปิดเล่ห์พปชร.แก้รธน.

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย พร้อมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 มาตรา อาทิ มาตรา 272 มาตรา 279 มาตรา 256 และ มาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง 

ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พบว่าข้อเสนอของ พปชร. เป็นการแก้ไขเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีก 1 สมัย เพราะการไม่แตะอำนาจ ส.ว. จึงเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่า ต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ครั้งหน้า ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านต้องการแก้ไข ม.272 เพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ควรล็อกตำแหน่งให้กับใครคนใดคนหนึ่ง

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการแก้ไข ม.256 นั้น เป็นการแก้ไขเพื่อเปิดทางไว้ เพราะหากไม่แก้จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าต่อไป 

ส่วนระบบเลือกตั้ง จะต้องเป็นบัตร 2 ใบ เพราะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนดีกว่าบัตรใบเดียว ประชาชนสามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบได้ 

“สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่คงคาดหวังอะไรไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาแม้จะประกาศกลางสภาว่าเห็นด้วย แต่ก็ส่งสัญญาณควํ่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คงให้ราคาไม่ได้”

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,688 หน้า 12 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน 2564