"ดร.สามารถ" ไขปมร้อน ช็อก! บีทีเอส ทวงหนี้ กทม.ก้อนใหญ่กว่า 3 หมื่นล้านบาท

22 พ.ค. 2564 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2564 | 16:51 น.
1.3 k

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ไขปมร้อน ช็อก! บีทีเอส ทวงหนี้ กทม.ก้อนใหญ่กว่า 3 หมื่นล้านบาท

22 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ไขประเด็นร้อน ช็อก! บีทีเอสทวงหนี้ กทม. ก้อนใหญ่กว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีใจความว่า คงอยู่ในสภาพสุดจะทน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงได้เขียนข้อความขึ้นจอในขบวนรถไฟฟ้าและที่สถานีรถไฟฟ้าให้ผู้โดยสารได้รับรู้ว่า กทม. ติดหนี้บีทีเอสกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้พบเห็นช็อกไปตามๆ กัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นได้?

นับว่า เป็นการทวงหนี้สุดคลาสสิก หลังจากได้มีหนังสือทวงหนี้ไปแล้วหลายครั้ง แต่ กทม.ก็ยังไม่จ่ายให้ เพราะไม่มีเงินจะจ่าย เนื่องจากมีรายได้จากค่าโดยสารส่วนต่อขยายน้อย ไม่พอที่จะจ่ายหนี้

ถึงวันนี้ (22 พฤษภาคม 2564) กทม. เป็นหนี้บีทีเอสจำนวน 33,222 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้ O&M (Operation and Maintenance) หรือค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา 12,218 ล้านบาท และหนี้ E&M (Electrical and Mechanical) หรือค่าขบวนรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสาร และระบบตั๋ว 21,004 ล้านบาท

หนี้ O&M เริ่มมีตั้งแต่ปี 2560 เมื่อเปิดเดินรถช่วงสถานีสำโรง-สถานีปู่เจ้าสมิงพราย ในวันที่ 3 เมษายน 2560 และหนี้ได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเปิดเดินรถจากสถานีปู่เจ้าสมิงพราย-สถานีเคหะสมุทรปราการ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ตามด้วยการเปิดเดินรถจากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 และจากห้าแยกลาดพร้าว-สถานีคูคต ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563

หนี้ E&M เริ่มมีตั้งแต่ปี 2559 และได้เพิ่มมากขึ้นในปีที่เปิดเดินรถช่วงต่างๆ เช่นเดียวกับหนี้ O&M

หากหนี้ก้อนใหญ่นี้ กทม. ยังคงไม่จ่ายให้บีทีเอส หนี้ก็จะพอกพูนขึ้นทุกวัน วันละประมาณ 24 ล้านบาท

ทางแก้ปัญหาหนี้ก้อนใหญ่นี้ กทม. และรัฐบาลมีทางเลือกดังนี้

1. เร่งชำระหนี้ให้บีทีเอส ซึ่งถึงวันนี้ (22 พฤษภาคม 2564) มีหนี้จำนวน 33,222 ล้านบาท

2. เตรียมเงินก้อนใหญ่อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นค่าจ้างเดินรถในช่วงจากนี้ไปจนถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการเดินรถส่วนหลักกับบีทีเอส ค่าดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2572 และค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF)

หากไม่มีเงินมาชำระหนี้ได้ และไม่มีเงินสำหรับค่าจ้างเดินรถจนถึงปี 2572 รวมทั้งค่าดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2572 และค่าชดเชยกองทุน BTSGIF ก็จำเป็นที่จะต้องขยายเวลาสัมปทานให้บีทีเอส โดยให้บีทีเอสรับภาระหนี้ รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินรถในช่วงจากนี้ไปจนสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานที่จะขยายออกไป รับภาระดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2572 และค่าชดเชยกองทุน BTSGIF แทน กทม.

การเดินรถไฟฟ้าเป็น “พันธกิจสาธารณะ” ที่รัฐจะต้องให้บริการแก่พี่น้องประชาชน แต่ในกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รัฐได้มอบพันธกิจสำคัญนี้ให้เอกชน โดยว่าจ้างให้เอกชนรับภาระหน้าที่นี้แทน เอกชนต้องลงทุนและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินรถรวมทั้งค่าซ่อมบำรุงรักษา เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล แต่เอกชนกลับไม่ได้รับค่าจ้าง

ไม่มีเมืองใดในโลกที่เอกชนทำหน้าที่เดินรถไฟฟ้าแทนภาครัฐแล้วไม่ได้รับค่าจ้างนานถึง 4-5 ปีเช่นกรุงเทพฯ ของเรา

ถามว่าเอกชนจะทนแบกภาระนี้ได้ต่อไปอีกนานแค่ไหน?

“ทำไมถึงทำกับฉันได้?”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บีทีเอส”ขึ้นจอทวงหนี้ รัฐบาล "บิ๊กตู่" 30,000ล้าน ปม รถไฟฟ้าสายสีเขียว

"BTS" ยื่นฟ้อง"กทม." 3หมื่นล้าน ทวงหนี้ เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว

BTS แบก 3 หมื่นล. กทม.ยื้อไม่ยอมจ่าย สายสีเขียวถึงศาลแน่

“ชัชชาติ”แนะวิธีแก้ปมกทม.ค้าง“บีทีเอส”3หมื่นล้านถึงขั้นทวงหนี้ออกอากาศ

ทำได้จริงหรือ? หั่นตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 25 บาท