เลือกตั้ง อบจ.นนทบุรี ส่อทุจริต "ศรีสุวรรณ" ร้องกกต.สอบ

21 พ.ค. 2564 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2564 | 18:01 น.

"ศรีสุวรรณ" ขุดหลักฐาน ทุจริตเลือกตั้ง อบจ.นนทบุรี ยื่นร้อง กกต. เพื่อสอบสวน ไต่สวน ดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่กระทำความผิด

21 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อให้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัย เพราะมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างมากมาย

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก กกต. ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ.ทั่วประเทศเมื่อ 20 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ม.65(1) อย่างโจ๋งครึ่ม อาทิ มีการซื้อสิทธิ-ขายเสียง โดยมีการแจกเงินกันหัวละ 300 บาท โดยมีพยานหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ ซึ่งมีการนำมาโพสต์แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย กระทั่งมีความพยายามวิ่งเต้นเพื่อเบี่ยงเบนหลักฐานดังกล่าวที่แพร่หลาย โดยอ้างว่าเป็นการชำระหนี้กันแทน แต่ทว่าหลักฐานของการโทรศัพท์มาเคลียร์ของฝ่ายซื้อเสียงเป็นประจักษ์พยานที่ปฏิเสธไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการโฆษณาในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่สามารถชี้ชัดถึงผู้สมัครนายก อบจ.บางรายเกี่ยวกับการให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สิน โดยเฉพาะการให้เงินเดือนของตนกับเด็กประพฤติดีแต่ยากจนตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งถ้าบวกค่าตอบแทนประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนพิเศษเข้าไปอีกจะตกประมาณ 75,530 บาทต่อเดือน หรือ 906,360 บาทต่อปี หรือกว่า 18 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งกว่า 16 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขัดต่อประกาศผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดนนทบุรี เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของนายก อบจ. ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 7 ล้านบาทเท่านั้น

ที่สำคัญ ยังมีหลักฐานที่ชี้ว่าการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563 มากมาย ทั้งการนำเด็กๆมาใช้ในการทำแผ่นป้ายหาเสียง ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.27 ประกอบ ม.79 แห่ง พรบ.การคุ้มครองเด็ก 2546 อีกด้วย         

อย่างไรก็ดี แม้ กกต.จะได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.อบจ.และนายก อบจ.นนทบุรีไปแล้วก็ตาม แต่ทว่าตาม ม.17 วรรคสอง แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 บัญญัติไว้ว่า “การประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่เป็นการตัดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัย เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม”

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำพยานหลักฐานที่ชี้ชัดเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อบจ.นนทบุรี มาร้อง กกต. เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดและหรือร้องต่อศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง