“นิพนธ์”ชี้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีวิวัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

02 เม.ย. 2564 | 18:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 18:45 น.

“นิพนธ์”ชี้รธน.ให้ความสำคัญการกระจายอำนาจฯ มีวิวัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ยืนยัน "ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศชาติก็เข้มแข็ง" นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้านของประเทศ

วันนี้ (2 เม.ย.64) ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นวิทยากรพิเศษบรรยาย ในหัวข้อ "กฎหมายและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนครหลวง" ในการศึกษาอบรมหลักสูตร "ผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง" (ผู้นำเมือง รุ่น 6) จัดขึ้นโดย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  มีวัตถุประสงค์ในการสร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจ ด้านการบริหารจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กับผู้นำภาครัฐ ภาคเอกชน สามารถบูรณาการแนวความคิดทางการบริหารองค์กร การบริหารท้องถิ่นร่วมกันต่อการพัฒนาเมืองและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นายนิพนธ์ ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นไทย (อปท.) ผ่านประสบการณ์การทำงาน มุมมอง และวิสัยทัศน์ ตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า

ระบบราชการไทยแบ่งการบริหารราชการส่วนกลาง  ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น จึงต้องมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่น โดยมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับแรก ที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ฉบับปัจจุบัน ก็มีการกำหนดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน เป็นการยกฐานะของส่วนท้องถิ่นที่รัฐธรรมนูญรับรองสถานะขององค์กรท้องถิ่น

และส่วนตัวก็เชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจ ดังนั้น เมื่อจบเนติบัญฑิตไทย ก็ไม่ไปสอบอัยการ หรือผู้พิพากษา แต่มุ่งเป้ามาสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัด(ส.จ.) เป็นส.จ.สองสมัย และเป็นส.ส. เป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (นายก อบจ.) 

     “นิพนธ์”ชี้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีวิวัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง      

                 “นิพนธ์”ชี้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีวิวัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ครั้งเป็น ส.ส.สมัยแรกเมื่อปี 2535 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันพระราชบัญญัติสภาตำบล ที่ยกฐานะสภาตำบล ขึ้นมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลังจากที่มีนโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มอำนาจให้ประชาชนจะเป็นแนวทางที่จะลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท นี่คือการลดความเหลื่อมล้ำ

“เรามีเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เมืองต่างๆ ก็โตอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลไกรัฐแบบเดิมๆ จะไม่สามารถดูแลได้ ยกตัวอย่างการจัดบริการด้านสุขภาพ ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้หลากหลาย การให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ งานป้องกันควบคุมโรคและงานส่งเสริมสุขภาพ ท้องถิ่นสามารถทำได้ดี

วันนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องการกระจายอำนาจฯ สามารถก้าวมาได้เยอะมากแล้ว ผมเชื่อมั่นว่าเรื่องการกระจายอำนาจจะทำให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข้ง การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง แล้วสามารถยืนบนขาของตัวเองได้ จะนำไปสู่การทำประเทศชาติให้เข้มแข็งและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในทุกๆ ด้านของประเทศ” รมช.มหาดไทย ระบุ

               ผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง              

          ผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง