วันนี้ (23 พ.ย. 67) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครองฯ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการใช้เสรีภาพ เฉพาะมาตรา 49 ที่เขียนว่า การใช้เสรีภาพเพื่อการล้มล้างทำไม่ได้ เสรีภาพถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพ นั่นคืออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
“นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือ กกต. พิจารณาสิ่งที่กฎหมายห้ามกระทำของพรรคการเมือง จะต่างกัน จึงไม่เกี่ยวกันเลยทั้ง 2 เรื่อง ข้อมูล ข้อเท็จจริงอาจเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าเราถือกฎหมายคนละฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญว่า การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น เพื่อเป็นการล้มล้าง แต่ กกต. หรือนายทะเบียนฯ จะพิจารณาว่าการกระทำนั้น ผิดกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคหรือไม่”
นายแสวง กล่าวต่อว่า “ผมยกตัวอย่างครั้งที่แล้ว ที่นายทะเบียนไม่รับเรื่องของพรรคก้าวไกลไว้พิจารณา กฎหมายบอกว่าไม่รับไปดำเนินการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ มีนักข่าวมาถามว่าทำไม กกต.ไม่รับ เพราะกรณีนั้นเป็นกรณีใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปพิจารณาเรื่องเหล่านั้น เกินขอบอำนาจของ กกต.
กกต.ไม่ได้เข้าไปพิจารณาในเนื้อหา แต่ไม่รับไว้ดำเนินการเพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจเรา แต่กรณีหลังมีคนมาร้องว่ามีพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมือง นายทะเบียนก็รับไว้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน จะเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน”
เมื่อถามต่อว่าคำร้องหลายคำร้อง ที่มีลักษณะคล้ายกัน กกต.ยังเดินหน้าตรวจสอบต่อไป นายแสวง กล่าวว่า “เราก็ทำตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเรา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่ในระหว่าการตรวจสอบของ กกต. เกิดจากการยื่นร้องต่อ กกต. ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม เนื่องจากยินยอมให้ นายทักษิณ เข้าครอบงำ ชี้นำพรรค เป็นการกระทำความผิดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีความเห็นในเบื้องต้นว่า คำร้องยุบพรรค 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีมูล ฐานยินยอมให้ นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าสอบจะแล้วเสร็จ
กรณีนี้มีกลุ่มผู้ร้องรวม 4 ราย ได้แก่ บุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006
โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของ นายทักษิณ หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณ ที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล
โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 28 หากการสอบสวน พบว่าเป็นความผิด จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้