“กุนซือนายกฯ”ฟันธงคดี“ค่าโง่โฮปเวลล์”ขาดอายุความแล้ว

18 มี.ค. 2564 | 19:25 น.
3.8 k

“พีระพันธุ์”กุนซือนายกฯ ฟันธงคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” 2.4 หมื่นล้าน ขาดอายุความแล้ว กางพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 75(4) เปิดช่อง “รื้อคดีใหม่ได้” 

คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” กำลังจะนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ขาดว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ปี 2545 เรื่องการนับระยะเวลาฟ้องคดีปกครองให้เริ่มตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่นำมาใช้อ้างอิงในคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ขัดรัฐธรรมนูญว่า ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยคดีนี้ถือว่าขาดอายุความไปแล้ว 

เนื่องจากข้อพิพาทที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นเดือนมกราคม ปี 2541 นับจากวันที่ ครม.มีมติบอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งในขณะนั้นการนับอายุความคดีปกครอง ต้องใช้ตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่กำหนดอายุความคดีปกครองไว้แค่ 1 ปี เท่ากับคดีนี้ต้องหมดอายุความในปี 2542 แต่ “โฮปเวลล์” ไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการในปี 2547 ถือว่ากรณีนี้หมดอายุความไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาโดยตลอด แม้ว่าในภายหลังจะมีการแก้ไขมาตรา 51 เพิ่มอายุความจาก 1 ปีเป็น 5 ปี และไม่เกิน 10 ปี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะมีข้อพิพาท

“แม้ว่าจะนับอายุความตามกฎหมายมาตรา 51 ที่มีการแก้ไขใหม่ อายุความก็จบลงที่ปี 46 แต่โฮปเวลล์ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการปี 47 ถือว่าคดีขาดอายุความไปแล้ว และจะนำเรื่องอายุความ 10 ปี ที่กำหนดไว้ในมาตรา 51 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากต้องเป็นกรณีที่ไม่ทราบว่าเหตุพิพาทเกิดขึ้นเมื่อใด แต่กรณีนี้มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาชัดเจนในปี 2541 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่องให้นับอายุความตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปใช้การนับอายุความตามมาตรา 51ซึ่งถือว่าคดีนี้หมดอายุความไปแล้ว” นายพีระพันธุ์ ระบุ

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างรอสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปดำเนินการขอคัดถ่ายคำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับประสานงานกับกระทรวงคมนาคม ในการพิจารณาแนวทางเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 75 (4) ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เปิดช่องให้ยื่นศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอ “รื้อคดีใหม่” ได้ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษา หรือ คำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยกรณีนี้อาจมีการใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นเหตุแห่งการรื้อคดีตามกฎหมายมาตราดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :