รัฐสภาเห็นชอบ! จุรินทร์ นำพาณิชย์ ชู ความสำเร็จ RCEP " คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้

09 ก.พ. 2564 | 20:08 น.

รัฐสภาได้โหวตเห็นชอบ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เดินหน้า RCEP หลังบรรลุข้อตกลงได้ทั้ง 20 ประเด็น ยืนยันเจตจำนงร่วมกันกับทั้ง 15 ประเทศที่ต้องการให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้โดยเร็ว

วันนี้ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ  RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement ) ด้วยคะแนนเสียง 526 เสียง โดยก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมรัฐสภา โดยการประชุมครั้งนี้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอข้อมูล รวมถึงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะ ได้รับในการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทยต่อรัฐสภา

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในนามคณะรัฐมนตรีตนขอเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือที่เรียกว่าอาร์เซป โดยข้อตกลง RCEP นั้นถือเป็นการต่อยอด FTA ระหว่างอาเซียน +1 กับประเทศต่างๆ เช่น อาเซียน + จีน,อาเซียน + ญี่ปุ่น,อาเซียน + เกาหลี ,อาเซียน + ออสเตรเลีย,อาเซียน + นิวซีแลนด์ และอาเซียน + อินเดีย รวมกันจะกลายมาเป็น RCEP ซึ่ง RCEP นี้ถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของประเทศไทยถ้ามีผลบังคับใช้ในอนาคต

เริ่มแรกได้มีการเจรจามาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีมีประเด็นสำคัญ 20 ประเด็นเรียกว่า 20 ข้อบท และช่วงระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการบรรลุข้อตกลงได้เพียง 7 ประเด็นยังค้างอยู่ 13 ประเด็น จนกระทั่งปีที่แล้วในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและตนได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในการเข้าร่วมประชุมเพื่อดำเนินการให้บรรลุข้อตกลง RCEP อย่างที่ค้างคามา สุดท้ายปีที่แล้วเราสามารถดำเนินการให้ที่ประชุม RCEP บรรลุข้อตกลงได้ทั้ง 20 ข้อบทหรือ 20 ประเด็น แล้วนำมาซึ่งการลงนามที่ทำเนียบรัฐบาลกับท่านนายกรัฐมนตรีร่วมกับประเทศอื่นๆอีก 14 ประเทศ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

โดยประเทศที่เข้าร่วมลงนามมีทั้งหมด 15 ประเทศ ผลของการบรรลุข้อตกลง RCEP และการลงนามนี้ RCEP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมี GDP รวมกันถึง 1 ใน 3 ของโลก และประชากรในกลุ่มประเทศ RCEP 15 ประเทศนี้ มีด้วยกัน 2,200 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศอาเซียนคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยทั้งหมด ตกเป็นมูลค่าการค้า 8.5 ล้านล้านบาท ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับถ้าข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ เราจะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของการค้าสินค้าและบริการ สำหรับสินค้าจะประกอบไปด้วย สินค้าทางด้านเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม

รัฐสภาเห็นชอบ! จุรินทร์ นำพาณิชย์ ชู ความสำเร็จ RCEP \" คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้

 

สำหรับสินค้าเกษตรที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง สินค้าประมง เป็นต้น สำหรับอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น สำหรับภาคบริการ เช่นธุรกิจก่อสร้างที่ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในเรื่องนี้รวมทั้งธุรกิจในเรื่องของการค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ และธุรกิจดิจิตอลคอนเทนท์ เช่น ภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น เป็นต้น

หลังที่ประชุมรัฐสภาถ้าให้ความเห็นชอบหน่วยงานของรัฐยังมีภารกิจอีก 4 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนส่งเรื่องไปให้สัตยาบันกับเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประกอบด้วย

 

1.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมศุลกากรต้องมีการปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 ให้เป็น HS 2017 รวมทั้งต้องออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP

 

2.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการของกรมศุลกากรให้สอดคล้องกับข้อตกลง RCEP

 

3.เกี่ยวข้องกับกรมการค้าต่างประเทศ ต้องไปหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกในเรื่องแนวปฏิบัติของการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือที่เรียกกันว่าใบ C/O และปรับแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อตกลง

 

4.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะต้องออกประกาศกระทรวงฯเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะนำเข้ามาผลิตรถยนต์ 125 รายการ

ซึ่งเป็นภารกิจ 4 เรื่องที่หน่วยงานของรัฐจะต้องไปดำเนินการหลังจากที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ

 

" หลังการดำเนินการ 4 เรื่องจบ ประเทศไทยจะได้ดำเนินการยื่นการให้สัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา และถือว่าจบกระบวนการให้สัตยาบันของประเทศไทย ภายหลังจากที่ประเทศต่างๆให้สัตยาบันแล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้สัตยาบันครบทั้ง 15 ประเทศ ถ้าในกลุ่มของประเทศอาเซียนมี 6 ประเทศ และกลุ่มนอกประเทศอาเซียนให้สัตยาบัน 3 ประเทศรวมกับ อาเซียน 6 ประเทศ เป็น 9 ประเทศก็ถือว่าให้ข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ได้ " นายจุรินทร์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐสภาวันนี้ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายสอบถามซึ่งนายจุรินทร์ได้ตอบคำถามจนสิ้นสงสัย จากนั้นประธานรัฐสภาได้ให้สมาชิกลงคะแนนผ่านความเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลง RCEP คาดว่าจะมีผลใช้บังคับปีนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป สำหรับความตกลง RCEP ยังช่วยให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ของไทยสามารถลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน มีกฎระเบียบทางการค้าและพิธีการศุลกากรที่ โปร่งใส ชัดเจน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนจากเดิม ซึ่งช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมการค้าที่โปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ RCEP ยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการค้าออนไลน์ และทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์ จากความตกลง RCEP มากขึ้น

รัฐสภาเห็นชอบ! จุรินทร์ นำพาณิชย์ ชู ความสำเร็จ RCEP \" คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้

ด้านรายงานกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สำหรับในปี 2563 การค้าของไทยกว่าครึ่งพึ่งพาตลาด RCEP โดยการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มี มูลค่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออก ไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้า ส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ามันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติม ภายหลังมีสมาชิกรัฐสภาตั้งข้อสงสัย ต่อการเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ การให้สัตยาบัน การเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement : RCEP) ว่า

 

จากการที่มีสมาชิกรัฐสภาท่านหนึ่งแสดงความสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลจึงต้องเร่งรีบนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมของรัฐสภา หรือเป็นเพราะต้องการเร่งสร้างผลงานก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น ตนคิดไม่ถึงว่าเรื่องนี้แทนที่จะกลายเป็นเรื่องบวก แต่กลับเป็นเรื่องคิดลบได้ขนาดนี้ เพราะความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย รัฐบาลได้เสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะว่าเป็นเจตจำนงร่วมกันกับทั้ง 15 ประเทศที่ต้องการให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้โดยเร็วและทันทีที่มีการลงนามวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าได้รีบดำเนินการในการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพราะยังมีภารกิจหลังจากนี้อีก 4 – 5 เรื่อง กว่าจะนำไปเสนอการให้สัตยาบันต่อเลขาธิการอาร์เซ็ป ที่จาการ์ตาได้

 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นความพยายามที่ต้องการเห็นเรื่องนี้สำเร็จโดยเร็ว และไม่ได้มีประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกรจะได้ประโยชน์เต็มๆ ซึ่งไทยมีพืชเกษตรที่มีความสามารถในการแข่งขันก็สามารถส่งออกไปยัง 14 ประเทศ โดยทำให้ภาษีเป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นแป้งมัน สินค้าประมง สับปะรด ยาง ผัก ผลไม้แปรรูป ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเป็น เอสเอ็มอี และเป็นเกษตรกรโดยตรง

นอกจากนี้จากการที่มีสมาชิกรัฐสภา แสดงความเห็นใจว่าการเจรจานั้นดำเนินการมายาวนาน หลายรัฐบาล และทราบดีว่าเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งนายจุรินทร์ ได้กล่าวขอบคุณที่เข้าใจ เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ ตนเข้าไปดูแลกระทรวงพาณิชย์ทราบว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย ถึงต้องยาวนานมาหลายรัฐบาล ซึ่งเหนื่อยทั้งข้าราชการประจำ เหนื่อยทั้งภาคการเมือง เพราะกว่าจะผ่านไปได้แต่ละเรื่องก็จะต้องมีการเจรจาทั้งระดับเจ้าหน้าที่ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพราะฉะนั้นหลายรัฐบาลที่ผ่านมากว่าจะผ่านทีละข้อบทมาให้ 7 ข้อบท และมาเร่งดำเนินการอีก 13 ข้อบทนี้ จึงต้องใช้พลังมหาศาลในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี

อีกทั้งเรื่องนี้ยังเป็นเป้าหมายที่ได้คุยกันในรัฐบาลว่า ปีที่แล้วไทยเป็นประธานอาเซียน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นศักดิ์ศรีประเทศไทย จึงต้องการให้อาร์เซ็ปจบให้ได้ในปีที่แล้ว ขณะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน โดยไม่ได้คิดว่าจะเป็นรัฐบาลไหนอย่างไร และในที่สุดก็สามารถดำเนินการมาได้จนเป็นผลสำเร็จ

การเจรจาโดยเฉพาะข้าราชการก็เหนื่อยจริงๆ พวกผมก็เหนื่อยนะครับ เพราะว่าขนาดวันรุ่งขึ้นจะออกแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ คือนายกรัฐมนตรีทั้ง 15 ประเทศ จะต้องมาลงนามกัน แถลงการณ์ร่วมยังออกไม่ได้ เพราะคืนนั้นยังเจรจาไม่จบ ผมต้องนั่งเป็นประธานเจรจาดำเนินการ จนกระทั่งนาทีสุดท้ายนี่ก็คือความยาก บางเรื่องต้องใช้มาตรการทางการเมืองในฐานะที่มีประสบการณ์ทางการเมือง และเพื่อจะได้เห็นบรรยากาศ ขณะเจรจามีรัฐมนตรีบางประเทศพูดยังไงก็ไม่ยอม โดยบอกว่า ท่านต้องเอาประชาชนเป็นหลัก เพราะท่านเป็นผู้แทนราษฎร ผมจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านต้องกังวล ผมก็เป็นผู้แทนราษฎร ผมก็ต้องเอาประชาชนเป็นหลัก ท่านเป็นกี่สมัย ท่านบอกเป็นมา 2 สมัย ผมบอกผมเป็นมา 11 สมัย สุดท้ายก็เลยหัวเราะ แล้วก็ยอมรับกันได้ว่า เราต่างก็เห็นประโยชน์ของประชาชนด้วยกันนายจุรินทร์กล่าว

และในที่สุดในวันรุ่งขึ้น ผู้นำทั้ง 15 ประเทศ ก็สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ และก็นำมาสู่การลงนามวันที่ 15 พฤศจิกายน จนนำมาสู่การขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา โดยถัดจากนี้การดำเนินการยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะเร็วเท่าไหร่ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์จากข้อตกลงอาร์เซ็ปได้