แผนฟื้นฟูขสมก. คจร.-มท.1ติงค่าตั๋ว 30 บาทแพง

09 ก.พ. 2564 | 03:00 น.
613

“คมนาคม” เดินหน้าแผนฟื้นฟูขสมก.ฉบับใหม่ เร่งถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือสัปดาห์หน้า ก่อนชงครม.เห็นชอบ หลังบอร์ด คจร. ไฟเขียวแผนเดินรถ108 เส้นทาง ด้านมหาดไทยติง รถเมล์ 30บาท หวั่นผู้มีรายได้น้อยเสียค่าโดยสารสูง

กรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ท้วงติงค่าโดยสาร รถโดยสารสาธารณะ ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
(ขสมก.) ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม  ตามแผนฟื้นฟู อัตรา 30 บาทตลอดสาย อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ต่างจาก ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กระทรวงคมนาคมคัดค้านว่าอัตราสูง ซึ่งสอดคล้องกับ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มอบหมายให้พิจารณาค่าโดยสารให้เหมาะสมกับทุกกลุ่มก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  สำหรับความคืบหน้า แผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 162 เส้นทางแบ่งเป็น ขสมก.108 เส้นทาง เอกชน 54 เส้นทาง เพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรองรับการขยายตัวของเมืองและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นตามความจำเป็น ในอนาคต ขณะเดียวกันที่ประชุม คจร. ให้เพิ่มเติมข้อความจากเดิมที่ระบุเพียงราคาค่าโดยสารเป็นราคาค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน ทั้งนี้ได้มอบให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณากำหนดราคาค่าโดยสาร ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม 

“ส่วนกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความกังวลผู้มีรายได้น้อยที่เคยเสียค่าโดยสารในราคาถูกจะต้องเสียค่าโดยสารถึง 30 บาทต่อคนต่อวัน เรามองว่าเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคมให้การดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เป็นผู้พิจารณาค่าโดยสาร เบื้องต้นได้กำหนดราคาค่าโดยสารตั๋วเที่ยวเดียวราคา 15 บาท ซึ่งคิดราคาบนพื้นฐาน อัตราค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศตามระยะทาง ในปัจจุบันประกาศใช้ปี พ.ศ.2561 สำหรับรถปรับอากาศ(ใหม่) ราคาค่าโดยสารขั้นตํ่าสุด อยู่ที่ ราคา 15 บาท ต่อระยะทาง 0-4 กิโลเมตร (กม.)”

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ล่าสุดทางสภาพัฒน์ให้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนฟื้นฟูขสมก.ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนที่ส่งต่อที่สภาพัฒน์พิจารณาต่อไป ปัจจุบันทางกระทรวงเตรียมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์หน้าเพื่อเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมครม.เห็นชอบที่ผ่านมาได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ประสานกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบเพื่อชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนลงทุนฟื้นฟูขสมก.ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งคำถามไว้ 

สำหรับแนวทางแผนฟื้นฟู ขสมก.ประกอบด้วย 

1. การจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดยขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน 

2. ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการ รถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bid ding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาตํ่าสุด (ตํ่ากว่าราคากลาง) เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก. ซึ่งในการประชุมผู้ประกอบการรถเอกชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ไม่มีผู้ประกอบการรถเอกชนรายใด เสนออัตราค่าจ้างวิ่ง ในราคา 30 บาทต่อกิโลเมตร ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ

ค่าโดยสาร ขสมก.

3. รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานตํ่า EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม ที่มีการติดตั้งระบบGPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน 

4.เส้นทางการเดินรถ ขสมก.ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 108 เส้นทาง ในการเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของขสมก. และรถโดยสารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดเก็บค่าโดยสารในระบบเดียวกัน และเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต และกลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมากและไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้ 

5.การบริหารหนี้สิน โดยขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ในปีงบ ประมาณ 2565-2571 ทั้งนี้รัฐจะต้องเป็นผู้รับภาระหนี้สินทั้งหมด ซึ่งทำให้ผลประกอบการของ ขสมก. จะกลับมาเป็นบวก (EBIDA) ในปี 2572

6.การลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ซึ่งจะดำเนินการในปี 2565

ที่มา : หน้า 7  ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง