“เรืองไกร”ร้องป.ป.ช.ฟันกกต.ส่อทำผิดม.157 แจกใบส้ม“สุรพล”

01 พ.ย. 2563 | 13:15 น.

“เรืองไกร”ร้องป.ป.ช. ฟันกกต.ส่อทำผิด ม.157 เหตุแจกใบส้ม “สุรพล เกียรติไชยากร” ใช้อำนาจขัดรธน. 


วันที่  1 พ.ย. 2563 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเปิดเผยว่า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาที่ 4209/2563 ซึ่ง กกต.  เป็นผู้ร้อง และมี นายสุรพล เกียรติไชยากร เป็นผู้คัดค้าน โดยศาลพิพากษาไว้ตอนหนึ่งในหน้า 34 ว่า


"...ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านถวายเงินจำนวน 2,000 บาท แก่พระครูถาวรวรคุณ เพื่อเป็นการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ผู้คัดค้านได้บริจาคเงินสมทบให้แก่กองผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้าน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการให้เงินไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน อันจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) ตามคำร้อง และเมื่อฟังว่าผู้คัดค้านไม่ได้กระทำผิดตามคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 ตามคำร้อง พิพากษาให้ยกคำร้อง"


นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำพิพากษาหน้า 29 ถึง 30 ศาลฎีกา ระบุไว้บางส่วน ดังนี้


"เห็นว่า ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ... ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ (2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน..."
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ในคำพิพากษาหน้า 30 ตอนท้าย ระบุไว้บางส่วนว่า


"... และต้องได้ความว่า ผู้คัดค้านกระทำการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้คัดค้านด้วย..."
ในคำพิพากษา หน้า 31 ยังระบุไว้บางส่วนว่า "... นอกจากนี้ตามทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทำให้ผู้คัดค้านหรือบุคคลใดเชื่อได้ว่า ..."


 

นายเรืองไกร กล่าวตามมาว่า การที่ศาลฎีกายกคำร้องดังกล่าว เห็นได้ว่า มาจาก กกต. ไต่สวนได้ความโดยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) 


เรื่องนี้จึงมีประเด็นตามมาว่า การที่ กกต. ไต่สวนโดยไม่ได้ความตามที่กฎหมายบัญญัติ ทำให้เห็นได้ว่า กกต. อาจมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจอำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1)
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า กรณีดังกล่าว จึงยังไม่จบ เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องด้วยเหตุ กกต. ไต่สวนได้ความโดยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย กกต.จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย มิได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร้องไปที่ ป.ป.ช. ให้รีบไต่สวน กกต. ว่า จะมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) กับ พรป.กกต. 2561 มาตรา 25 และมาตรา 69 หรือไม่


ทั้งนี้ ในวันที่ 2 พ.ย. ตนจะส่งหนังสือร้องนี้ไปทางไปรษณีย์ EMS เนื่องจากในวันดังกล่าวช่วงเช้าไม่ว่าง เพราะต้องไปศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีที่นายประชา ประสพดี ฟ้อง ป.ป.ช.