"สภานิสิตจุฬาฯ" จี้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

22 ต.ค. 2563 | 15:47 น.
1.4 k

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ ประณามการใช้อำนาจรัฐตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 .

วันที่ 22 ตุลาคม 2563  สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการใช้อำนาจรัฐตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

 

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า "ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 อันนำมาสู่การใช้อำนาจในการสลายการชุมนุมและจับกุมประชาชนผู้ออกมาร่วมชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมา และล่าสุดก็ได้มีการจับกุม "มายด์ ภัสราวลี" ผู้ปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่ม "คณะราษฎร" บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ภายหลังการชุมนุมยุติลงนั้น

 

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ (Freedom of Peaceful Assembly) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แม้การชุมนุมดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อการคมนาคมของประชาชนอยู่บ้าง แต่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรงและมิได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 22 ตุลาคม 2563

ราชกิจจานุเบกษา ยกเลิก "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ" ในท้องที่กทม.

เปิดหนังสือนายกฯ ร่ายยาว“ม็อบ”กระทบบริหารราชการแผ่นดิน

ตำรวจ ยุบ "กอร.ฉ." หลังยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามความในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดฯ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวนั้นจึงไม่มีความชอบธรรม และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์อีกว่า รัฐบาลทำการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการระงับและยับยั้งการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อพิทักษ์รักษาไว้เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลเท่านั้น เช่น การจำกัดและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนที่เผยแพร่ภาพและข่าวสารเกี่ยวกับการชุมนุม การสั่งปิดรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมอื่น 

 

รวมถึงการใช้อำนาจเพื่อออกหมายจับและควบคุมตัว (หมายจับ ฉฉ) เพื่อควบคุมผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น และการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมตามข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ที่ล้วนเป็นไปเพื่อยับยั้งไม่ให้การชุมนุมนั้นเกิดขึ้นได้หรือให้การชุมนุมนั้นลดทอนความเข้มข้นลงเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจที่มิได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากแต่เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น

ด้วยเหตุผลข้างต้น สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอประณามการบังคับใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายของรัฐบาล รวมถึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และดำเนินการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวเพราะเหตุการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลโดยเร็ว"

 

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

22 ตุลาคม 2563 ดูน้อยลง

\"สภานิสิตจุฬาฯ\" จี้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน