รมช.กลาโหมแจงปมกรณีซื้อเรือดำน้ำ

10 ก.ย. 2563 | 01:00 น.

"พล.อ.ชัยชาญ" รมช . กลาโหม ตอบคำถามฝ่ายค้านปมที่มาการจัดหาเรือดำน้ำแบบจีทูจี

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แจงฝ่ายค้านกรณีการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 1 จำนวน 1 ลำ ของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นการซื้อแบบจีทูจี โดยสาเหตุที่ไม่นำร่างข้อตกลงขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะในขั้นตอนของการร่างข้อตกลงกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อพิจารณาว่า ข้อตกลงดังกล่าวนั้น กำหนดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทย 


จึงไม่ได้เป็นสนธิสัญญาตามกฏหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 แต่เป็นสัญญาเชิงพาณิชย์ซึ่งวันที่กองทัพเรือไปลงนามนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็มีเนื้อหาสาระ เช่นเดียวกับมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว


ส่วนเหตุใดไม่มีการขอหนังสือมอบอำนาจเต็ม และไม่ต้องใช้หนังสือมอบอำนาจเต็มหรือ Full Powers ในการลงนามในข้อตกลง พล.อ.ชัยชาญ กล่าวตอบไปว่า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ที่กำหนดไว้ว่า การจัดทำความตกลงในนามหน่วยงานของรัฐ กับหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจเต็ม และผู้มีอำนาจลงนามของหน่วยงานนั้น หรือผู้ได้รับมอบหมายสามารถลงนามได้
 

ขณะที่คำถามที่ว่าทำไมผู้ลงนามฝ่ายไทยจึงเป็นเสนาธิการทหารเรือ ส่วนฝ่ายจีนเป็นผู้แทนบริษัท CSOC  พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงตามมติคณะรัฐมนตรี

ส่วนทางฝ่ายจีนได้มอบหมายให้องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม เพื่อการป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน (SASTIND)เป็นหน่วยที่ขึ้นตรงรัฐบาลจีน และ SASTIND นี้ ก็ได้มอบอำนาจให้กับ บริษัท ไชน่า ชิปบิลดิ้ง คือ CSOC นั้น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ


"ส่วนคำถามทีว่า ทำไมถึงจ่ายเงินให้เอกชนของจีน เพราะการดำเนินการต่อเรือดำน้ำครั้งนี้ SASTIND ได้มอบอำนาจเต็มในการยื่นข้อเสนอ ข้อเทคนิคต่างๆ ให้ CSOC ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐ มาดำเนินการในนามของรัฐบาลจีน การใช้จ่ายค่าก่อสร้าง จึงได้โอนไปยังบัญชีของ CSOC ตามงวดการชำระเงินที่ระบุไว้ในข้อตกลง "