“แอมเนสตี้” ปลุก 8 ล้านคนทั่วโลกส่งจดหมายบีบรัฐบาลไทย

04 ก.ย. 2563 | 16:17 น.
673

“แอมเนสตี้” ปลุกสมาชิกทั่วโลก 8 ล้านคน ส่งจดหมายบีบรัฐบาลไทย ยกเลิกข้อหาผู้ชุมนุม 31 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ 4 กันยายน 2563 ว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน ชวนสมาชิกนักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมทั้ง 31 ราย ยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนหรือปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวม หรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ การรณรงค์ครั้งนี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ผู้ชุมนุม 31 ราย ที่ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา นายบารมี ชัยรัตน์ นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ นายเดชาธร บํารุงเมือง นายจักรธร ดาวแย้ม นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นางสาวจิรฐิตา ธรรมรักษ์ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ นายกรกช แสงเย็นพันธ์ นายกฤษณะ ไก่แก้ว นางสาวลัลนา สุริโย นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ นางสาวเนตรนภา อํานาจส่งเสริม นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายภานุมาศ สิงห์พรม นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์

 

นางสาวพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นายปรัชญา สุรกําจรโรจน์ นางสาวสิรินทร์ มุ่งเจริญ นางสุวรรณา ตาลเหล็ก นายทักษกร มุสิกรักษ์ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นายธนชัย เอื้อชา นายธนายุทธ ณ อยุธยา นายธานี สะสม นายทศพร สินสมบุญ และนายยามารุดดิน ทรงศิริ อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี เนื่องทางการไทยออกหมายจับแกนนำและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยจำนวน 15 ราย จากบทบาทในการจัดการชุมนุมที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และผู้ชุมนุมอีก 16 ราย ได้รับหมายเรียกและถูกแจ้งข้อหาจากเหตุการณ์เดียวกัน

 

ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมและจำกัดเสรีภาพ ที่รัฐบาลมักใช้เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ หากศาลตัดสินว่า มีความผิด นักกิจกรรมแต่ละคนอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี การจับกุมผู้ชุมนุมอย่างสงบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นถึงการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เข้มข้นขึ้น

 

แอมเนสตี้ ระบุว่า ข้อหามีขอบเขตและเนื้อหากว้างขวางเช่นนี้ กำลังถูกใช้เพื่อปิดปากผู้วิจารณ์รัฐบาลของไทยซึ่งมีประวัติการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีแรงจูงใจทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และเสียใจที่มีการปราบปรามการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะซึ่งมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การเข้าร่วมและการจัดการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน เช่นเดียวกับการมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การใช้สิทธิเหล่านี้ไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญา และไม่ควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาผู้ชุมนุมทั้ง 31 ราย และบุคคลอื่นๆโดยทันที ระบุ ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และยุติความพยายามหรือการดำเนินงานใดๆที่มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางการเข้าร่วมของสาธารณะในการชุมนุมโดยสงบ หรือการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ชำแหละ ม็อบเยาวชนปลดแอก ข้องใจมีเบื้องหลัง

"ม็อบเยาวชนปลดแอก"เรียกร้องปชต. หรือ ต่อต้านสถาบัน

"อดีตบิ๊กข่าวกรอง" ลั่น "เฟซบุ๊ก" ต้องเคารพกฎหมายไทย

ฝรั่งงงเยาวชนปลดแอกเชิดชู “แอนดรูว์”