ผ่างบปี 64 ยุทธศาสตร์ชาติด้านไหน "รุ่ง-ร่วง"

03 ก.ค. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2563 | 19:00 น.
1.8 k

ขำแหละงบปี 64 รัฐบาลเดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ชาติ 61 แผนงาน ชู ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม ทุ่มงบสูงสุด 795,806 ล้าน ส่งเสริมแผนงานกระจายอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 319,232.8 ล้านบาท ขณะที่ยุทธศาสตร์ปรับสมดุล-พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริต ได้รับจัดสรรงบ น้อยที่สุด 609 ล้านบาท

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของรัฐบาลในครั้งนี้นั้น หลักการสำคัญต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2562) แผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อดูจากการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ประกอบด้วย รายการค่าดำเนินการภาครัฐ แบ่งออกเป็น แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 139,825.6 ล้านบาท และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐอีกจำนวน 293,454.3 ล้านบาท รวมเป็น  433,279.9 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เปิด "งบ 64" รายกระทรวง ที่ไหนถูกตัด ที่ไหนได้เพิ่ม

เปิดไส้ใน "งบกลาง 64" โปะเยียวยา-จ่ายฉุกเฉิน 1.4 แสนล้าน

ส่อง "งบ64" มหาวิทยาลัย ที่ไหนอู้ฟู่ ที่ไหนฝืดเคือง

ที่เหลือเป็นงบสำหรับงานยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ที่ประกอบด้วย แผนงานรวม 61 แผนงานนั้น สามารถไล่เรียงยุทธศาสตร์ที่ได้รับการจัดสรรงบ "มากที่สุด-น้อยที่สุด" ปรากฏข้อมูลดังนี้  

1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 795,806.1 ล้านบาท มีทั้งหมด 11 แผนงานนั้น พบว่า แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการจัดสรรงบ มากที่สุด คือ 319,232.8 ล้านบาท ตามด้วยแผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม 288,298.7 ล้านบาท, แผนงานยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 83,968.0 ล้านบาท, แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 52,313.3 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 23,413.6 ล้านบาท เป็นต้น  ในขณะที่แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยนั้น กลับได้รับการจัดสรรไว้ น้อยที่สุด เพียง 944.3 ล้านบาท

2.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  จำนวน 577,755.2 ล้านบาท มี 8 แผนงาน พบว่า ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรอยู่ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ 417,039.2 ล้านบาท ตามด้วย แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 73,944.5 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี 40,600.3 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 31,578.9 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่แผนงานยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ได้รับจัดสรรงบน้อยที่สุด จำนวน  1,789.2 ล้านบาท

3.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 556,528.7 ล้านบาท มี 7 แผนงาน ได้รับจัดสรรมากที่สุด คือ แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 430,387.9 ล้านบาท ตามมาด้วยแผนงานบุคลากรภาครัฐ 96,327.9 ล้านบาท อันดับที่ 3 คือ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 18,184.7 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 5,501.5 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น ได้รับการจัดสรรงบให้ น้อยที่สุด ในยุทธศาสตร์นี้จำนวน  609.1 ล้านบาท

 

4.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 416,003.9 ล้านบาท ประกอบด้วย 13 แผนงาน งบส่วนใหญ่ของยุทธศาสตร์นี้อยู่ที่แผนงานของบุคลากรภาครัฐได้รับจัดสรรมากที่สุด 193,813.8 ล้านบาท ตามด้วยแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 80,365.2 ล้านบาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง  57,616.3 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 28,661.8 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 15,354.7 ล้านบาท และ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ 11,807.3 ล้านบาท ส่วนที่ได้รับจัดสรรงบน้อยที่สุด คือ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม 288.7 ล้านบาท  

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 402,310.9 ล้านบาท มี 16 แผนงาน โดยแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้รับจัดสรรงบมากที่สุด จำนวน 109,023.8 ล้านบาท ตามด้วยแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 78,464.7 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 73,337.9 ล้านบาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 42,335.8 ล้านบาท และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 22,712.7 ล้านบาท ได้รับจัดสรร น้อยที่สุด คือ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน 647.2 ล้านบาท

6.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 118,315.3 ล้านบาท มี 9 แผนงาน ซึ่งแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้รับจัดสรรงบมากที่สุด จำนวน  66,738.2 ล้านบาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 18,765.7 ล้านบาท แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 13,802.4 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 13,353.7 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบน้อยที่สุดในยุทธศาสตร์นี้ คือ แผนงานยุทธศาสตร์ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ 11.6 ล้านบาท