“จีน”ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด หนุนสร้างความมั่นคงอาหารโลก

24 เม.ย. 2563 | 15:33 น.

วันที่ 24เม.ย.63พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เขียนบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งชาติจีน ในการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

นายหัน ฉางฝู (Han Changfu) รมว.เกษตรและกิจการชนบทแห่งชาติจีน

 

นายหัน ฉางฝู (Han Changfu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งชาติจีน ได้กล่าวถึงความคาดหวังทางการเกษตรจีน ประจำปี 2020 (พ.ศ.2563) ในการประชุมทางไกลรัฐมนตรีด้านการเกษตรของกลุ่มประเทศ G20 วาระพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดข้อจำกัดจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.63 ว่า

 

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงด้านธัญพืชและสินค้าเกษตรทั่วโลก ขณะที่จีนมีความสามารถพอที่จะอาศัยกำลังของตนเองประกันความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมทั้งพยายามทำประโยชน์ต่อความมั่นคงทางอาหารโลกด้วย 

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นายหัน ฉางฝู จึงได้เสนอต่อที่ประชุมฯ ให้มีทำงานร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานการเกษตรระหว่างประเทศและความมั่นคงด้านอาหาร โดย  

 

1.1มีการบริการจัดการที่ดีในการผลิตทางการเกษตร และความพยายามที่จะฟื้นฟูการผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปอย่างราบรื่น 
 

1.2  การรักษาเสถียรภาพการค้าสินค้าเกษตร และลดข้อจำกัดทางการค้าโลจิสติกระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยการรักษาคำสั่งซื้อขายสินค้าเกษตรและความมั่นคงของตลาด 
 

 1.3  การเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคี เพื่อสนับสนุนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งโครงการอาหารโลกและกองทุนระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนาการเกษตร และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่จะมีบทบาทเสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลการผลิตทางการเกษตร การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือทางเทคนิคและนโยบาย รวมทั้งการประสานงาน 

 

“จีน”ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด หนุนสร้างความมั่นคงอาหารโลก

 

2. ข้อสังเกต ก่อนหน้านี้ ในการประชุมของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 43 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.63ได้มีการหารือเกี่ยวกับรายงานปัญหาทางธัญญาหาร โดยผู้แทนของประเทศจีนได้กล่าวว่า ระบบธัญญาหารโลกในปัจจุบันขาดความสมดุล ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศด้อยโอกาสได้รับผลกระทบก่อน 

 

ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วและองค์กรที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติควรให้การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการผลิตธัญญาหาร โดยควรให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเทคโนโลยี เพื่อบรรลุความเที่ยงธรรมด้านสิทธิธัญญาหาร

 

 

บทสรุป จีนประสบความสำเร็จในการรักษาความมั่นคงทางธัญญาหาร จากการยืนหยัดในยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยสร้างจุดยืนจากในประเทศ เพื่อประกันขีดความสามารถด้านการผลิต และมีการนำเข้าอย่างพอควร รวมทั้งได้ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาความมั่นคงด้านธัญญาหาร ตามแนวทางอัตลักษณ์ของจีน

 

นอกจากนี้ จีนได้แสดงบทบาทการเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ที่มีความรับผิดชอบในการร่วมการบริหารความปลอดภัยทางธัญญาหารของโลก โดยคุ้มครองระบบการค้าพหุภาคีและส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2030 (พ.ศ.2573) อีกทั้ง ยังคงบทบาทที่สำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางธัญญาหารของโลกต่อไป