รายงานสอบสร้างสภาใหม่ส่อไม่สมบูรณ์

22 เม.ย. 2563 | 15:59 น.

“วิลาศ”อดีตส.ส.ปชป. ปูด รายงาน กมธ.วิสามัญฯ สอบสร้างสภาใหม่ ส่อไม่สมบูรณ์

22 เมษายน 2563 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม.(ส.ส.กทม.)พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่มีนายอนันต์ ผลอำนวย เป็นประธาน กล่าวถึง ปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้าว่า ขอพูดในนามส่วนตัวที่พบความผิดสังเกตในรายงานที่คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ กำลังร่างเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า อาจจะได้ผลไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรเนื่องจากไม่ได้ศึกษาปัญหาอุปสรรค ครบถ้วน รอบด้าน ข้อมูลบางเรื่องไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่ตรวจสอบจากข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาพบว่า การขอเอกสารรายชื่อคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรัฐสภาใหม่จากสภาผู้แทนราษฎร อาทิ คณะกรรมการที่ปรึกษาการก่อสร้างสภาฯแห่งใหม่และคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างสภาฯแห่งใหม่ รวมถึงบันทึกการประชุมของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่เกือบ 10 คณะ ที่กรรมาธิการวิสามัญฯขอไป กลับไม่ได้ความร่วมมือจากสภาฯเลย เพราะไม่ได้ทั้งรายชื่อคณะกรรมการชุดต่างๆที่สภาฯตั้งขึ้น 

ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงบันทึกการประชุมของกรรมการแต่ละชุด ไม่ได้มาแม้แต่ชุดเดียว ทั้งที่เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกรรมการเหล่านี้บางคนบางคณะมีความเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างระบบไอซีที ซึ่งแพงกว่าความเป็นจริงมาก จนถูกยกเลิกไป เป็นสาเหตุหนึ่งของความล่าช้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เกินกำหนด

นายวิลาศ  กล่าวต่อว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการที่สภาแต่งตั้งขึ้นบางคณะมีพฤติการณ์เข้าไปแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้างระบบไอซีทีซึ่งรวมหมายถึงการวางระบบ Wi-Fi ระบบอินเตอร์เน็ต การสื่อสาร การติดตั้งระบบลำโพง ไมโครโฟน และจอทีวีระบบดิจิตอล ระบบเครื่องเสียงภายในห้องประชุมและประชุมกรรมาธิการ รวมถึงระบบเครื่องเสียงลำโพงบริเวณภายในอาคารรัฐสภา เป็นต้น

ทั้งที่แต่เดิมมีการว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษาระบบ และการติดตั้งระบบไอซีทีทั้งหมดในรัฐสภาฯใหม่ แต่กลับปรากฏว่าคณะกรรมการที่ปรึกษาและเร่งรัดการก่อสร้างกลับเปลี่ยนแปลงให้ว่าจ้างบริษัทเอกชน มาทำการออกแบบแทน และต่อมามีการกำหนดราคาสินค้าแพงกว่าราคาจริงในท้องตลาด โดยเพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 8,648 ล้านบาท จนเป็นที่มาของการยกเลิกโครงการนี้โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการเอง หลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสังคม โดยล่าสุดพบว่ามีการ จัดซื้อจัดจ้างวางระบบไอซีทีในอาคารรัฐสภาฯแห่งใหม่ไปแล้วในวงเงิน 3,351 ล้านบาท 

แต่ที่น่าแปลกคือเมื่อพบว่า โครงการวางระบบไอซีทีในสภาฯใหม่ มีการส่อทุจริต แต่กลับไม่มีการติดตามสืบสาวต่อว่าใครเป็นผู้เกี่ยวข้องในเอื้อการทุจริตทั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบการสร้างสภาฯใหม่เองก็ไม่ได้รับความร่วมมือในการส่งมอบเอกสารใดๆเพื่อจะขยายผลติดตามตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดหรือผู้เกี่ยวข้องได้เลย