ป.ป.ช.ตีตกปม“ยิ่งลักษณ์-ครม.”เห็นชอบร่างพรบ.เงินกู้2ล้านล้าน

16 มี.ค. 2563 | 16:37 น.
727

ป.ป.ช.ตีตกเรื่องกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์-ครม.” กรณีร่วมกันมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน เหตุครม.เสนอร่างกฎหมายโดยเชื่อว่าไม่ขัดรธน.-เป็นตามนโยบายที่แถลงต่อสภา จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด


วันนี้(16 มี.ค.63) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 1 ว่าการกระทำดังกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-35 (คณะรัฐมนตรี) ไม่มีมูลความผิดตามที่กล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป จากกรณีกล่าวหาร่วมกันมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... และเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 และมาตรา 170 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ          

                   
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ในฐานะคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกังกล่าวและได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 66 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา

 

เพื่อให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2557     ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสามนั้น        

 

 

                  
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 169   และมาตรา 170 มาพิจารณา เนื่องจากเนื้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้เคยมีการตราไว้เป็นกฎหมาย ในทำนองเดียวกันมาหลายครั้ง โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีข้อความในทำนองเดียวกัน กับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และที่ผ่านมาไม่มีประเด็นเกี่ยวกับ เรื่องการขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 

 


จึงเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหา กับพวก เชื่อว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติของผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา อันไม่ใช่หน้าที่ทั่วไปหรือตามที่กฎหมายกำหนด ตามองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 123/1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังรัฐสภา


ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาและตรากฎหมาย มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หรือมีอำนาจการแก้ไขได้ เป็นการตรวจสอบ ถ่วงดุลและคานอำนาจฝ่ายบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งโดยหลักการศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมจะไม่เข้าไปตรวจสอบ เว้นแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าพระราชบัญญัติใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ามีบทบัญญัติใดที่รัฐบาลเสนอมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ต้องรับผิดชอบในทางการเมืองในเรื่องกระบวนการถอดถอน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการตั้งกระทู้ถามอันเป็นการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ