ส่องเงื่อนไขกฎหมาย ไม่ห้ามชุมนุม “ในสถานศึกษา”

26 ก.พ. 2563 | 12:04 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2563 | 19:25 น.
2.7 k

เปิดเงื่อนไขการชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องขออนุญาต พบกฎหมายไม่ห้ามชุมนุมใน 6 สถานที่ รวมทั้ง “ในสถานศึกษา”

 

จากกรณีที่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหาร 10 ปี ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจและเกิดปรากฏการณ์นักศึกษามีการนัดชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ของหลายสถาบัน 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบข้อยกเว้นในการชุมนุมที่ไม่ต้องขออนุญาต ตาม “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” พบว่า 

ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตินี้ “ไม่ใช้บังคับ” แก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้ 
1.การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี 
2.การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น 3.การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น 
4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา
5.การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
6. การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


 

ส่องเงื่อนไขกฎหมาย ไม่ห้ามชุมนุม “ในสถานศึกษา”

ส่วนมาตรา 8 ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
1.สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ 2. ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ 3. โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน

4.สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ 5.สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด