3 ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาล แนะเร่งแก้ ปัญหาปากท้อง

01 ม.ค. 2563 | 16:31 น.
1.7 k

นักวิชาการชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาล “การคุมเสียงในสภา-การเคลื่อนไหวนอกสภา-ปัญหาปากท้อง” แนะรัฐบาลเร่งแก้เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนมุมมองถึงสภาพปัญหาของรัฐบาลในปี 2563 ว่า ยังคงมีความยุ่งเหยิง รัฐบาลต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากในสภาที่เสียงปริ่มนํ้า ปัญหานอกสภา จากการระดมมวลชนของพรรคอนาคตใหม่ และโจทย์ใหญ่จากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

 

ปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาล ประการแรก มาจากปัญหาการควบคุมเสียงในสภา เนื่องจากรัฐบาลเสียงปริ่มนํ้า แม้ที่ผ่านมาจะควบคุมเสียงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสงบราบรื่นไปได้ยาว เพราะต้นปี 2563 จะเกิดศึกสำคัญฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เรื่องการควบคุมเสียงส.ส.จึงยังเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาล แม้จะมีงูเห่ามาช่วยก็คงไม่ง่ายนัก

 

 

ประการที่ 2 โจทย์เฉพาะหน้าที่เห็นแล้วและมีสัญญาณแล้วคือ การเคลื่อนไหวนอกสภา ของพรรคอนาคตใหม่ มีสัญญาณที่พึงระวังพอสมควร น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่จะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าอนาคตของพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ก็ตาม จะมีการเดินนอกสภาแน่นอน

3 ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาล แนะเร่งแก้ ปัญหาปากท้อง

                                                 สติธร ธนานิธิโชติ

ประการที่ 3 โจทย์ที่ประชาชนรอความหวังจากรัฐบาลโดยตรง คือ การขับเคลื่อนนโยบายโดยเฉพาะเศรษฐกิจปากท้อง ถ้าไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมและทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เศรษฐกิจปากท้องประชาชนดีขึ้นไม่จริง รัฐบาลจะเหนื่อยกับการต่อสู้กับ 2 เรื่องดังกล่าว ทั้งศึกในสภาและศึกนอกสภา ดังนั้นตัวที่จะคํ้าบัลลังก์ให้รัฐบาลได้อีกตัวก็คือ การขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

 

ขณะที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ดร.สติธร มองว่า ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่น่าจะเป็นตัวผ่อนคลายความตึงเครียดให้รัฐบาลด้วยซํ้า ถ้ามีคณะกรรมาธิการฯ เกิดขึ้นแล้ว เพราะดูเหมือนจะเป็นเวทีให้คนที่อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญได้มีพื้นที่แสดงออก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการ ถ้าตั้งขึ้นมาแล้วจะเปิดกว้างขนาดไหน

 

 

ดร.สติธร ให้แง่คิดต่อรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องสนใจงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้อง จะเป็นจุดตาย และกลายเป็นแรงโต้กลับไปหารัฐบาลเอง สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าม็อบและการแก้รัฐธรรมนูญคือ ปัญหาปากท้องประชาชน

 

ส่วนรัฐบาลจะอยู่ได้ในปีหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจปากท้อง ตัวชี้อนาคตรัฐบาลจะอยู่ยาวหรืออยู่สั้นก็ต้องดูตรงนี้ ถ้าบริหารประเทศไปแล้วคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจยํ่าแย่ รัฐบาลก็จะอยู่ยาก ต่อให้มีเสียงล้นสภาก็อยู่ไม่ไหว อย่าไปห่วงม็อบมาก เพราะเป็นม็อบสำหรับการยอมรับในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตอนนี้คิดว่าพอไหว ภาพ“ลุงตู่”กับคนที่เคยสนับสนุนตั้งแต่เลือกพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ ไม่ได้อ่อนลงแต่อย่างใด ขณะเดียวกันภาพของลุงตู่ กับพรรคร่วมก็ถือว่าบวก เหมือนกับคนที่เป็นพรรคร่วมจะรู้สึกว่าโอเค อาจรู้สึกขุ่นข้องหมองใจบ้างเป็นบางโอกาส ส่วนใหญ่เป็นความรู้สึกต่อบรรดาคนที่รายล้อมลุงตู่มากกว่า