ดัน“อุทยานธรณีโคราช” ขึ้นแท่น“อุทยานธรณีโลก”

19 พ.ย. 2562 | 15:42 น.
1.3 k

รัชดา ธนาดิเรก

      วันที่ 19 พ.ย.2562 ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ว่า ครม.เห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีโคราชเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยส่งใบสมัครต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2562 

 

      การเป็นอุทยานธรณีของยูเนสโก ต้องเป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยาและวัฒนธรรม มีการจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้และการวิจัยพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

       ปัจจุบันอุทยานธรณีของยูเนสโกทั่วโลก มี 147 แห่ง ใน 41 ประเทศ สำหรับในภูมิภาคอาเซียน มีจำนวน 8 แห่ง ใน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 2 แห่ง อินโดนีเซีย 4 แห่ง และไทย 1 แห่งคือ อุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับรองการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561

 

      สำหรับอุทยาธรณีโคราช ที่จะเสนอต่อองค์กรยูเนสโก มีเนื้อที่ประมาณ 3,167 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ ขามทะเลสอ สูงเนิน และสีคิ้ว ซึ่งมีความเหมาะสมในการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เนื่องจากมีแหล่งธรณีวิทยา แหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรม รวม 35 แหล่ง โดยเฉพาะแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ มีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้
 

     1.แหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินไพลสโตซีนตอนต้นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายของชนิดและสีสัน 2.แหล่งไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล และ 3 ชนิด รวมทั้งเต่าและจระเข้พันธุ์ใหม่ 1 สกุล 2 ชนิด 3.แหล่งฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดในโลก พบถึง 10 สกุล จาก 55 สกุล  ที่พบทั่วโลก และ4.แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุ 200,000 ปี  พบ 15 ชนิด ซึ่งมีความหลากหลายชนิดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

      ประโยชน์ของการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก คือ 1.ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากขึ้น 2.สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ  3.สร้างงานและกระจายรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น 
ทั้งนี้ การเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จะต้องชำระเงินค่าสมาชิกเป็นรายปี ปีละ 1,500 ยูโร หรือราว 56,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการประเมินอุทยาน และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกและเครือข่ายในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก