สติวเดนท์ แคร์ผนึกพันธมิตรดึงเทคโนโลยี AI ยกระดับการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล

14 ม.ค. 2568 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2568 | 15:55 น.

สติวเดนท์ แคร์ผนึกพันธมิตรดึงเทคโนโลยี AI ยกระดับการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล มุ่ง ตอบโจทย์ความต้องการของสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการ การติดตามพฤติกรรมของนักเรียน

นายสมพร ภู่กิตติวรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สติวเดนท์ แคร์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสถานศึกษา ครู และผู้ปกครองในยุคดิจิทัล

โดยดำเนินการร่วมกับกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) บริหารงานโดย บริษัท เอสเอสพีพี แคปิตอลส์ จำกัด และได้รับการสนับสนุนจาก SME D BANK รวมถึง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะทรัสตี

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศไทยให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ด้วยแพลตฟอร์ม Student Care ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการสถานศึกษา การติดตามพฤติกรรมของนักเรียน ไปจนถึงการส่งเสริมศักยภาพผ่านระบบ AI อัจฉริยะที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างโซลูชันที่เหมาะสมในทุกมิติ”

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทในการขยายบริการไปยังกลุ่มโรงเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการให้บริการที่มีมาตรฐานระดับสากลสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในวงการศึกษา อีกทั้งยังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในวงการการศึกษาไทย และผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D BANK กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยจะช่วยเพิ่มความสามารถของ Student Care ในการพัฒนาระบบที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น 

รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้บริษัทสามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาในยุคดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ การสนับสนุนจากกองทุน SMEs จะช่วยขยายตลาดให้กว้างขึ้น และช่วยให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้บริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

Student Care เป็นตัวช่วยสำคัญในการยกระดับประสบการณ์ทางการศึกษาทั้งในด้านการเรียน การดูแลนักเรียน และการเชื่อมโยงระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระบบการศึกษาไทย