แนะ ออกกฎหมายควบคุมก่อสร้างขนาดใหญ่ หลัง ปม ถนนพระราม2 โครงถักเหล็กถล่ม

02 ธ.ค. 2567 | 13:29 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2567 | 13:47 น.

สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากกรณีโครงถักเหล็กถล่ม สู่ข้อเสนอการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการก่อสร้างขนาดใหญ่

 

กรณีโครงถักเหล็กถล่มที่โครงการก่อสร้างพระราม 2 โครงการก่อสร้างทางหลวงระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) M82 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วันที่29พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตและบาทเจ็บจำนวนมาก

ล่าสุด ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการวิบัติในทางวิศวกรรม โดยขณะนี้ มีการตั้งสมมุติฐานไว้ 2 แนวทางคือ

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ

1. โครงเหล็กวิบัติที่ตัวโครงเหล็กเอง หรือ 2. ฐานรองรับโครงเหล็กหลุดจากเสา และทำให้โครงเหล็กวิบัติตามมา โดยส่วนตัวให้น้ำหนักไปที่สมมุติฐานข้อที่ 2 นั่นคือ ฐานรองโครงเหล็กหลุดจากเสาก่อน เพราะสามารถอธิบายได้ว่าหลังจากฐานรองรับหลุดแล้ว โครงเหล็กพังถล่มตามลงมา

เนื่องจากการกระแทก และการกระชากของชิ้นส่วนที่ห้อยแขวนอยู่ ซึ่งจะอธิบายรูปแบบการวิบัติที่ปรากฏได้  อย่างไรก็ตามทั้งสองข้อข้างต้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้สรุปสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

 

 

ศ.ดร.อมร ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า การก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ ยังเต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าต่อคนงานหรือต่อประชาชนที่ต้องใช้ทางสัญจร ปัญหารากเหง้าคือการก่อสร้างโดยใช้โครงเหล็กเลื่อนเป็นงาน

ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้วิศวกรรมระดับสูง ที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับจะต้องมีความรู้และเข้าใจอย่างแท้จริงถึง ไม่ใช่ปล่อยให้คนงานขึ้นไปทำกันเอง มาตรการที่จำเป็นต้องมีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควรประกอบด้วย

1. ระยะสั้น ต้องทบทวนมาตรฐานการทำงาน ของโครงการก่อสร้างอื่นทุกโครงการ ที่ใช้โครงเหล็กเลื่อนในการก่อสร้าง ได้แก่ ขั้นตอนการปฏิบัติ รูปแบบการเชื่อมต่อ ความแข็งแรงของโครงเหล็ก ตลอดจนผู้ที่จะไปขึ้นทำงานต้องผ่านการอบรม

โครงถักเหล็กถล่มบนถนนพระราม2

ทั้งในด้านความปลอดภัยและในด้านการปฏิบัติทางวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดจุดต่อต่างๆ เช่นจุดต่อระหว่างฐานรองกับเสา จุดต่อระหว่างโครงเหล็กกับฐานรอง และอื่นๆ  อีกทั้งต้องเพิ่มความถี่และความเข้มข้นในการตรวจสอบการทำงานด้วย

2. ระยะกลาง-ระยะยาว รัฐควรออกกฎหมายเพื่อควบคุมการก่อสร้างที่ใช้ระบบโครงเหล็กเลื่อน ให้เป็น “การก่อสร้างควบคุม” หรือ “Controlled Construction" โดยควบคุมตั้งแต่วิศวกรที่วางแผนและกำกับการทำงาน หัวหน้าคนงาน ผู้บังคับโครงเหล็กเลื่อน

ตลอดจนคนงานที่ขึ้นไปปฏิบัติงาน จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบได้รับใบอนุญาต จึงจะขึ้นไปปฏิบัติงานได้ และการขอขึ้นไปปฏิบัติงานแต่ละครั้งต้องจัดให้มีเจ้าพนักงานความปลอดภัยตรวจสอบใบอนุญาตการทำงานเสียก่อน

3. รัฐควรออกระเบียบ ให้ขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาที่ทำงานโครงเหล็กเลื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ไม่มีความรู้หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนมารับงานได้

นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยรากเหง้าที่เป็นปัญหาพื้นฐานในโครงการก่อสร้างหลายๆแห่ง คือการรับงาน ขายงานต่อกันเป็นทอดๆ จนงบประมาณจำกัด ขั้นตอนและกระบวนการทางวิศวกรรมที่ดี

ที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูงที่ควรมี จึงโดนตัดออกไป เพื่อให้ลดต้นทุน สุดท้ายการทำงานที่ควรจะคาดหวังกับระบบและขั้นตอนทางวิศวกรรมที่มีความปลอดภัย กลับไปขึ้นอยู่แรงงานแทน ซึ่งหากไม่มีความรู้ความเข้าใจแล้ว ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งหายนะได้เลย